สิว เป็นปัญหาผิวที่พบได้ทั่วไป อาจเกิดจากความเครียด มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น เมื่อเกิดสิว หลายคนอาจเลือกกดหรือบีบสิว เพื่อกำจัดสิวออกไปให้ได้เร็วที่สุด แต่วิธีนี้อาจทิ้งรอยแดง รอยดำ หรือทำให้สิวอักเสบกว่าเดิมได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษา วิธีกดสิวที่ถูกต้อง และปลอดภัย อาจช่วยลดปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาได้ ทั้งนี้ ควรกดสิวเองเมื่อจำเป็นเท่านั้น และควรดูแลสิวด้วยไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสม เช่น ปรับการรับประทานอาหาร ล้างหน้าและบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิว และหากปัญหาสิวแย่ลง ควรปรึกษาคุณหมอผิวหนัง เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
[embed-health-tool-bmr]
วิธีกดสิวที่ถูกต้อง และปลอดภัย
วิธีรักษาสิวที่เหมาะสมที่สุดอาจเป็นการรอให้หัวสิวหลุดออกมาเอง เพราะบนผิวหนังบริเวณรอบ ๆ สิวมีแบคทีเรียก่อตัวอยู่ หากกดสิวอาจทำให้แบคทีเรียบนผิวหนังชั้นนอกเข้าสู่ผิวหนังผ่านรอยกดสิว และทำให้ผิวหนังอักเสบได้ แต่หากจำเป็นต้องกำจัดสิวด้วยการกดสิวจริง ๆ การกดสิวด้วยวิธีกดสิวที่ถูกต้องดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาจากการกดสิวได้
วิธีกดสิวที่ถูกต้อง สำหรับสิวหัวขาวหรือสิวหัวปิด
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นให้สะอาด จะได้ไม่เสี่ยงติดแบคทีเรีย
- ใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดทำความสะอาดเข็มเจาะสิวให้สะอาด หากไม่มี สามารถใช้เข็มเย็บผ้าเล่มใหม่ได้
- ค่อย ๆ แทงเข็มลงบนสิวในมุมเฉียง หากมองเห็นรูขุมขนให้แทงเข็มเข้าไปตามแนวรูขุมขน ควรแทงเข็มอย่างเบามือ อย่าให้แรงหรือลึกเกินไปจนเลือดไหลหรือรู้สึกเจ็บ
- ใช้ไม้พันสำลีหรือผ้าก๊อซกดที่ผิวใกล้ๆ บริเวณหัวสิว แล้วดึงผิวให้ตึง ให้หัวสิวหรือหนองไหลออกมาเอง อย่าใช้วิธีกด ดัน หรือบีบสิว เพราะอาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังได้
- ใช้สำลีเช็ดหัวสิวและหนองออกให้หมด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดผิวอีกครั้งด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ เช่น วิตช์ฮาเซล (Witch Hazel)
- ใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดเข็มเจาะสิวให้สะอาด ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด
วิธีกดสิวที่ถูกต้อง สำหรับสิวหัวดำหรือสิวหัวเปิด
- ทาผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่บริเวณหัวสิวบาง ๆ เพื่อช่วยให้หัวสิวและสิ่งสกปรกหลุดออกได้ง่ายขึ้น
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นให้สะอาด จากนั้นซับให้แห้ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้สำลีก้านหรือคอตตอนบัดกดข้างหัวสิวทั้งสองข้างเบา ๆ จนหัวสิวหลุดออกมา ระวังอย่ากดโดนหัวสิว
- ใช้สำลีเช็ดหัวสิวออกให้หมด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดผิวอีกครั้งด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ เช่น วิตช์ฮาเซล
สิวประเภทไหนที่ไม่ควรบีบหรือกด
แม้วิธีกดสิวข้างต้นจะเป็นวิธีกดสิวที่ถูกต้องและปลอดภัย แต่อาจเหมาะสำหรับใช้กดสิวหัวดำหรือสิวหัวขาวที่มีลักษณะกดง่าย ไม่อักเสบมากเท่านั้น หากเป็นสิวชนิดตุ่มนูนแดงแต่ไม่มีหัว (Papules) ไม่ควรกดหรือบีบออกเด็ดขาด หรือหากกดดูแล้วสิวเป็นไต ๆ อยู่ลึกใต้ผิว หรือเป็นสิวซีสต์ก็ไม่ควรกดออกเองเช่นกัน วิธีรักษาสิวลักษณะข้างต้นที่ดีที่สุด คือปล่อยให้สิวหายเอง โดยอาจใช้ยารักษาสิวร่วมด้วย
หากสังเกตเห็นว่าสิวมีลักษณะแดงเป็นบริเวณกว้างและเจ็บมาก จริง ๆ แล้วนั่นอาจไม่ใช่สิว แต่เป็นฝี (Boil) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อจนบวมเป็นหนองอยู่ภายใน ไม่ควรกด กรีด หรือบีบออกเองเด็ดขาด ต้องให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญรักษาให้เท่านั้น
วิธีดูแลรักษาสิวที่เหมาะสม
วิธีกดสิวที่ถูกต้องข้างต้นควรใช้เมื่อจำเป็นหรือเร่งด่วนเท่านั้น เพราะการกดสิวหรือบีบสิวเอง อาจทำให้เกิดรอยแดง รอยดำ หลุมสิว รอยแผลเป็น หรือทำให้สิวอักเสบรุนแรงกว่าเดิม ทั้งนี้ วิธีดูแลรักษาสิวดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้ปัญหาสิวดีขึ้นได้ และเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหรือปัญหาผิวอื่น ๆ น้อยกว่าการกดสิวด้วยตัวเอง
ประคบร้อน
การประคบร้อน เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและบวมแดงจากสิวอักเสบได้ อีกทั้งความร้อนยังช่วยให้รูขุมขนเปิด และหัวสิวอาจหลุดออกเองตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น
ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่หาซื้อได้เอง
หากไม่สะดวกเข้ารับการรักษาสิวตามคลินิกหรือโรงพยาบาล ก็สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันทีทรี (Tea tree oil) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซัลเฟอร์ (Sulfur) เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ จากร้านขายยามาใช้เองได้ สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มรักษาสิวด้วยตัวเอง อาจเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ในระดับความเข้มข้นต่ำ ๆ ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการระคายเคือง และก่อนใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวใด ๆ ควรปรึกษาเภสัชกรด้วย
เข้ารับการกดสิวโดยผู้เชี่ยวชาญ
หากจำเป็นต้องกดสิวจริง ๆ ควรให้คุณหมอผิวหนังหรือผู้ดำเนินการที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้กดสิวให้เท่านั้น เพราะบุคลากรเหล่านี้จะทราบวิธีกดสิวที่ถูกต้อง และกดสิวโดยใช้อุปกรณ์เฉพาะที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจปลอดภัย และเสี่ยงเกิดปัญหาผิวอักเสบหรือติดเชื้อแบคทีเรียน้อยกว่าการกดสิวเอง