สกินแคร์รักษาสิว ควรเลือกที่มีส่วนประกอบที่มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย กำจัดน้ำมันส่วนเกิน ลดการอุดตันของชั้นผิว เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ กรดซาลิไซลิก กรดอัลฟาไฮดรอกซี ซัลเฟอร์ และนอกจากการใช้สกินแคร์รักษาสิวที่เหมาะสมแล้ว ผู้ที่เป็นสิวก็ควรดูแลผิวอย่างถูกวิธีด้วย เช่น ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหน้า สระผมเป็นประจำ วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดสิวและป้องกันการเกิดสิวใหม่ได้ ทั้งนี้ สารประกอบบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ผิวแห้งลอก คัน แดง บวม ระคายเคือง จึงควรทดสอบก่อนใช้ เลือกใช้ส่วนประกอบที่เหมาะสมกับสภาพผิวของตัวเองมากที่สุด และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
สกินแคร์รักษาสิว ควรมีส่วนประกอบอะไร
ส่วนประกอบที่ควรมีใน สกินแคร์รักษาสิว อาจมีดังนี้
-
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)
เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์พบได้ในสกินแคร์รักษาสิวทั้งในรูปแบบเจล ครีม โลชั่น โฟมล้างหน้า และสบู่ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียบนผิวหนัง ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขนด้วยการกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ไขมันส่วนเกิน และแบคทีเรีย เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์เหมาะกับทุกสภาพผิว จึงเป็นส่วนประกอบหลัก ๆ ในสกินแคร์รักษาสิวที่คุณหมอมักแนะนำให้ใช้ เนื่องจากไม่ค่อยก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว
ข้อควรระวัง: เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์มีคุณสมบัติทำให้ผิวหนังลอก จึงอาจทำให้ผิวแห้งกร้าน แดง คันหรือระคายเคืองได้
-
กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
กรดซาลิไซลิกเป็นกรดในกลุ่มกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Beta hydroxy acids หรือ BHAs) ออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิวและขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยป้องกันไม่ให้รูขุมขนอุดตัน ลดการเกิดสิวใหม่ และช่วยลดรอยแดงและอาการอักเสบของผิวที่เป็นสิว
ข้อควรระวัง กรดซาลิไซลิกอาจทำให้ผิวแห้ง ลอก และแดง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการใช้งาน หากมีอาการข้างเคียงควรใช้ในปริมาณน้อยลง หรือเว้นระยะในการใช้งานให้นานขึ้น เช่น เปลี่ยนจากใช้ทุกวันเป็นทุก 2-3 วัน
-
กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha hydroxy acids หรือ AHAs)
กรดในกลุ่มอัลฟาไฮดรอกซี เช่น ไกลโคลิก (Glycolic) แลคติก (Lactic) มักพบได้ในสกินแคร์รักษาสิวรูปแบบเซรั่ม โทนเนอร์ และครีม ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและกระตุ้นการสร้างชั้นผิวใหม่โดยไม่ทำให้ผิวระคายเคือง ทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดสิว และช่วยลดเลือนจุดด่างดำได้ด้วย
ข้อควรระวัง กรดอัลฟาไฮดรอกซีอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองเล็กน้อย แดง บวม คัน และอาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด จึงควรใช้ควบคู่กับครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และมีค่า PA ด้วย เพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวีเอและยูวีบี
-
ซัลเฟอร์ (Sulfur)
ซัลเฟอร์ หรือ กำมะถัน พบได้ในสกินแคร์รักษาสิว เช่น ครีมกำมะถัน โลชั่น ครีม สบู่ก้อนรักษาสิว มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว และช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วที่อุดตันรูขุมขน นอกจากนี้ ยังช่วยดูดซับความมันส่วนเกินที่ทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว นิยมใช้ร่วมกับสารที่ช่วยรักษาสิวอื่น ๆ เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ กรดซาลิไซลิก
ข้อควรระวัง ซัลเฟอร์อาจทำให้ผิวที่บอบบางและแพ้ง่ายระคายเคือง แสบร้อน คัน แดง หรือแห้งลอกได้ ผู้ที่มีสภาพผิวดังกล่าวจึงควรทดสอบสกินแคร์รักษาสิวที่มีซัลเฟอร์ก่อนใช้
-
อะดาพาลีน (Adapalene)
อะดาพาลีนเป็นสารในกลุ่มเรตินอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่ พบในสกินแคร์รักษาสิวหลายชนิด เช่น ครีม เจล โลชั่น น้ำยาแต้มสิว (Solution) มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบของผิว ช่วยป้องกันการเกิดสิวใหม่ ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน และอาจช่วยปรับสีผิวให้สม่ำเสมอโดยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและเส้นเลือดใหม่ใต้ผิวหนัง
ข้อควรระวัง อะดาพาลีนอาจทำให้ผิวระคายเคือง แสบคัน และแดง โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ที่เริ่มใช้งาน จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช้ในปริมาณมากและบ่อยเกินไป โดยใช้เพียง 1 ครั้ง/วัน หรือวันเว้นวัน ก่อนนอน ตามคำแนะนำของคุณหมอหรือตามที่ฉลากผลิตภัณฑ์ระบุไว้อย่างเคร่งครัด
-
กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid)
กรดอะซีลาอิกเป็นกรดจากธรรมชาติที่พบได้ในสกินแคร์รักษาสิวทั่วไปในรูปแบบเจล ครีม เซรั่ม มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านการอักเสบ ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ทั้งยังช่วยป้องกันการสะสมของเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนที่อาจอุดตันรูขุมขนจนทำให้เกิดสิว และยังช่วยลดรอยดำหลังเป็นสิวได้
ข้อควรระวัง กรดอะซีลาอิกอาจออกฤทธิ์เร่งอัตราการผลัดเซลล์ผิว จึงอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ง่าย แสบร้อน คัน แห้งลอก หรือเกิดสิวผดได้ในช่วงที่เพิ่งเริ่มใช้งาน
ส่วนประกอบในสกินแคร์ที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นสิว
ส่วนประกอบในสกินแคร์ที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผิวเป็นสิว อาจมีดังนี้
- แอลกอฮอล์ การใช้สกินแคร์ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ อาจช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกินในชั้นผิวและกระชับรูขุมขน แต่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและเสี่ยงเกิดสิวใหม่ได้
- พาราเบน เป็นสารกันบูดที่พบในสกินแคร์บางชนิด ออกฤทธิ์ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ ที่ทำให้อายุการใช้งานของสกินแคร์หรือเครื่องสำอางลดลง พาราเบนอาจไม่ทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลง แต่อาจกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำให้สิวเห่อได้ และอาจกระตุ้นผื่นแพ้สัมผัสในบางคนได้
- น้ำหอม (Fragrance) สกินแคร์ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอมความเข้มข้นสูงทั้งแบบธรรมชาติและสังเคราะห์ อาจทำให้ผิวแพ้ง่ายหรือผิวเป็นสิวเกิดอาการระคายเคือง คัน และแสบร้อนได้ จึงควรหลีกเลี่ยงส่วนประกอบดังกล่าวและใช้สกินแคร์ที่ไม่แต่งเติมกลิ่นเพื่อป้องกันการเกิดสิว
วิธีดูแลผิวเพื่อป้องกันสิว
การดูแลผิวด้วยวิธีเหล่านี้ อาจช่วยป้องกันการเกิดสิวได้
- ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรทำความสะอาดผิวหน้าหลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งจนต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น จนส่งผลให้มีน้ำมันส่วนเกิน ที่ทำให้รูขุมขนอุดตันได้ง่าย และเสี่ยงเกิดสิวได้
- ควรใช้คลีนซิ่งล้างเครื่องสำอางและครีมกันแดดก่อนล้างหน้า หลีกเลี่ยงการนอนหลับทั้งเครื่องสำอางหรือนอนหลับโดยไม่ล้างหน้า เพื่อลดการสะสมของเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เซลล์ผิวที่ตายแล้วและแบคทีเรียในรูขุมขน ซึ่งอาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าเพราะอาจทำให้สิวเห่อได้ และควรงดแกะ เกา และบีบสิวด้วย เนื่องจากอาจทำให้สิวหายช้าลง ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อลุกลามไปยังบริเวณอื่น หรือเกิดแผลเป็นได้
- สระผมเป็นประจำ เพราะหากไม่สระผมหลายวัน อาจทำให้ผมมันมากและมีสิ่งสกปรกเกาะอยู่ที่เส้นผม เมื่อเส้นผมสัมผัสใบหน้า ก็อาจทำให้เกิดสิวได้ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและกรอบหน้า
- ควรเลือกใช้สกินแคร์รักษาสิวและผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้า เช่น โฟมล้างหน้า โลชั่น เครื่องสำอาง ที่ไม่ก่อให้เกิดสิว (Non-comedogenic) และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่อาจทำให้ผิวระคายเคืองอย่างน้ำหอม พาราเบน และแอลกอฮอล์
- สกินแคร์รักษาสิวอาจออกฤทธิ์ขจัดน้ำมันบนผิวหนัง และทำให้ผิวแห้งลอกได้ จึงควรใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เป็นประจำเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น ทั้งนี้ อาจเลือกผลิตภัณฑ์แบบวอเตอร์เบส (Water-based) ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำ ซึมเข้าสู่ผิวได้ค่อนข้างเร็ว ไม่ทำให้ผิวเหนอะหนะ และลดความเสี่ยงในการอุดตันรูขุมขน