backup og meta

สิวขึ้นคาง เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

สิวขึ้นคาง เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

สิวขึ้นคาง หมายถึง สิวซึ่งมีลักษณะต่าง ๆ ผุดขึ้นบริเวณคางและขากรรไกร ทั้งสิวผด สิวอุดตัน สิวหัวช้าง และอาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวด หรือระคายเคือง สิวขึ้นคางสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบบ่อยที่สุดในช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลและรักษาความสะอาด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าและการเผชิญแสงแดด

[embed-health-tool-ovulation]

สิวขึ้นคาง เกิดจากอะไร

สิวขึ้นคาง อาจเกิดขึ้นจากน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า เซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมถึงแบคทีเรีย เข้าไปอุดตันรูขุมขน ก่อให้เกิดการอักเสบ ทั้งยังอาจเกิดจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนเพศชาย อย่างแอนโดรเจน (Androgen) ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตในช่วงวัยแรกรุ่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตซีบัมหรือน้ำมันออกมามากเกินไปจนนำไปสู่การอุดตัน และคางเป็นบริเวณที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนได้มากกว่าส่วนอื่นของใบหน้า จึงปรากฏเป็นสิวประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1. สิวไม่อักเสบ

  • สิวหัวขาว หรือสิวอุดตันหัวปิด มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กสีขาว
  • สิวหัวดำ หรือสิวอุดตันหัวเปิด เป็นสิวที่เกิดจากไขมัน แบคทีเรีย และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วอุดตันรูขุมขน และทำปฏิกิริยาออกซิเดชันกับออกซิเจน จนมีสีเข้มขึ้นหรือเป็นสีดำ

2. สิวอักเสบ

  • สิวตุ่มนูนแดง เป็นสิวเม็ดเล็ก ๆ สีแดง ที่อาจทำให้รู้สึกเจ็บ
  • สิวตุ่มหนอง อาจสังเกตได้จากกลางหัวสิวเป็นสีขาวจากการสะสมของหนอง
  • สิวอักเสบแบบก้อนลึก หรือสิวหัวช้าง ลักษณะคล้ายสิวตุ่มนูนแดง แต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีก้อนแข็งเป็นไตใต้ผิวหนังมักทำให้เจ็บปวด
  • สิวขนาดใหญ่ที่เป็นถุงใต้ผิวหนัง หรือซีสต์ เป็นสิวที่มีลักษณะคล้ายฝี ภายในมีการสะสมของหนองจำนวนมาก และอาจเสี่ยงก่อให้เกิดแผลเป็นเมื่อบีบออก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สิวขึ้นคางแย่ลง

ปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้สิวขึ้นคางเกิดการอักเสบ หรือมีอาการที่แย่ลง ได้แก่

  • ช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นอาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตซีบัม หรือน้ำมันมากจนเกินไป
  • การดูแลผิวอย่างผิดวิธี เช่น การขัดผิวหน้าแรง การเลือกผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ไม่เหมาะสม การล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด
  • ความเครียด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเธียม (Lithium)
  • การรับประทานอาหารที่มีแป้ง ไขมัน หรือน้ำตาลสูง เช่น ขนมปัง มันฝรั่งทอด ขนมหวาน
  • แรงเสียดสี หรือแรงกดทับบนผิวหนังบริเวณคาง เช่น สวมใส่หมวกนิรภัยแน่นจนเกินไป คุยโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน

สิวขึ้นคาง มีวิธีรักษาอย่างไร

เมื่อสิวขึ้นคาง ควรเข้าพบคุณหมอผิวหนังเพื่อวินิจฉัยว่าสิวที่ขึ้นคางเป็นสิวประเภทใด เนื่องจากสิวแต่ละชนิดอาจต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ยารักษาสิวที่อาจใช้ได้อย่างปลอดภัย มีดังนี้

  • ยากลุ่มเรตินอยด์

เป็นยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ มีส่วนประกอบของกรดเรติโนอิก (Retinoic acid) ซึ่งอาจนำมาใช้รักษาสิวในระดับปานกลาง โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อให้ผิวหนังปรับสภาพคุ้นชินกับยา และป้องกันการอุดตันรูขุมขน อย่างไรก็ตาม ยาเรตินอยด์อาจส่งผลให้ผิวไวต่อแสงแดด ผิวแห้งและแดง จึงควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากมีความจำเป็นต้องออกแดดบ่อย เพื่อการรักษาด้วยยาเม็ดสำหรับรับประทาน เช่น ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin) หรืออาจเป็นยากลุ่มอื่นแทน

  • ยาปฏิชีวนะ

เป็นยาที่อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ช่วยลดรอยแดงและการอักเสบ ในช่วง 2-3 เดือนแรก คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยากลุ่มเรตินอยด์ โดยอาจใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงเช้า และใช้เรตินอยด์ในช่วงเย็น หรือก่อนนอน สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาทายา คุณหมออาจแนะนำยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน เช่น  ดอกซีไซคลีน (Doxycyclines)

  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)

เป็นกรดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ผลิตโดยยีสต์ อาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ โดยยาที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิไซลิกอาจนำมาใช้รักษาสิวในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีให้นมบุตรได้ ทั้งนี้ ต้องให้คุณหมออนุญาตก่อน

สิวขึ้นคาง มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง

การป้องกันสิวขึ้นคาง สามารถเริ่มจากการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนี้

  • ปกป้องผิวจากแสงแดด รังสีอัลตราไวโลเลตจากแสงแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น อาจกระตุ้นให้สิวขึ้นคาง หรือสิวที่คางอักเสบ และก่อให้เกิดรอยดำ ควรทาครีมกันแดดทุกวัน แม้จะอยู่ในที่ร่ม และหากออกนอกบ้าน ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกจากบ้าน 20 นาที หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวก และทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า แบคทีเรียที่อยู่บนมืออาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง ก่อให้เกิดสิว หรืออาจทำให้สิวที่เป็นอยู่ติดเชื้อและอักเสบเพิ่มขึ้น
  • ล้างหน้าให้สะอาด การล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง อาจช่วยขจัดสิ่งสกปรก เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และน้ำมันส่วนเกินออกจากผิวได้ ควรเลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิว เพื่อป้องกันสิวขึ้นคางซ้ำ ๆ
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวรุนแรง ควรเลือกใช้ฟองน้ำ หรือผ้านุ่ม ๆ ขัดผิวหน้าอย่างเบามือ
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว เลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ให้เหมาะกับสภาพผิว เช่น ผิวแห้ง ผิวมัน ผิวผสม โดยสามารถตรวจสอบได้จากฉลากข้างผลิตภัณฑ์ หรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอด้านผิวหนัง
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารแปรรูป และรับประทานผลไม้ ผัก และธัญพืชให้มากขึ้น
  • ล้างเครื่องสำอางให้สะอาด เพราะเครื่องสำอาง เช่น แป้ง รองพื้น บลัชออน หรือแม้กระทั่งครีมกันแดดอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน และเลือกผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางให้เหมาะสมกับสภาพผิวหน้า และไม่ควรเข้านอนทั้ง ๆ ที่ยังมีเครื่องสำอางอยู่บนหน้า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

10 Tips for Preventing Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/10-tips-for-preventing-pimples . Accessed July 19, 2022.

Understanding Acne Treatment. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/understanding-acne-treatment . Accessed July 19, 2022.

Acne Visual Dictionary. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/ss/slideshow-acne-dictionary . Accessed July 19, 2022.

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047 . Accessed July 19, 2022.

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/diagnosis-treatment/drc-20368048. Accessed July 19, 2022.

Acne. https://www.nhs.uk/conditions/acne/. Accessed July 19, 2022.

10 THINGS TO TRY WHEN ACNE WON’T CLEAR. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/ACNE/DIY/WONT-CLEAR. Accessed July 19, 2022.

How Your Period Affects Acne. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/features/period. Accessed July 19, 2022.

What to do about chin pimples. https://www.medicalnewstoday.com/articles/325991. Accessed July 19, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประเภทของแผ่นแปะสิว และวิธีการใช้อย่างถูกต้อง

ต่อมไขมันโต อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา