backup og meta

สิวที่จมูก สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    สิวที่จมูก สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน

    สิวที่จมูก เป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย อาจเป็นได้ทั้งสิวเสี้ยน สิวหัวขาว และสิวอักเสบ มักเกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง การใช้เครื่องสำอางบางชนิด การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้าที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว ความเครียด การใช้ยาบางชนิด พันธุกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยาแต้มสิวร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอาจช่วยรักษาสิวที่จมูกและช่วยไม่ให้กลับเป็นสิวที่จมูกซ้ำอีก

    สิวที่จมูก เกิดจากอะไร

    ส่วนใหญ่แล้ว สิวเกิดจากต่อมไขมันผลิตซีบัม (Sebum) ซึ่งเป็นน้ำมันธรรมชาติออกมาในปริมาณมากเกินไป เมื่อซีบัมรวมตัวกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและแบคทีเรียบนผิวหนัง อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน และเกิดเป็นสิวหัวขาว สิวหัวดำ หรือสิวเสี้ยนบริเวณจมูกได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังต่อไปนี้ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวที่จมูกได้เช่นกัน

    • ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ในร่างกายมักเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่น ระหว่างตั้งครรภ์ และในช่วงมีประจำเดือน ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ควบคุมการผลิตไขมันของผิวหนัง เมื่อฮอร์โมนแอนโดรเจนกระตุ้นให้ผลิตไขมันมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดสิวได้
    • เครื่องสำอาง การใช้เครื่องสำอางบางชนิด เช่น ครีมรองพื้น รวมถึงครีมบำรุงและโลชั่น ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน อาจไปอุดตันรูขุมขนและเกิดสิวได้
    • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้า สิวที่จมูกอาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิดที่ทำให้ระคายเคืองผิว ส่งผลให้เกิดสิว
    • ความเครียด ภาวะเครียดอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น ส่งผลให้รูขุมขนบริเวณจมูกอุดตันและเกิดสิวที่จมูกได้
    • การใช้ยาบางชนิด ยารักษาโรคบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้
    • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นสิวที่จมูก ก็อาจทำให้เสี่ยงเกิดสิวที่จมูกได้ง่ายขึ้น

    อาการของสิวที่จมูก

    อาการสิวที่จมูกอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันตามประเภทของสิว ดังนี้

    • สิวตุ่มหนองหรือสิวอักเสบ (Pustules) เป็นสิวบวมแดงที่เกิดจากต่อมไขมันบริเวณจมูกอุดตัน และมีการอักเสบอยู่ลึกเข้าในผิวหนัง ทำให้รู้สึกปวดและอาจเจ็บเมื่อสัมผัส
    • สิวหัวดำหรือสิวเสี้ยน (Blackheads) เป็นสิวหัวเปิดที่เกิดจากน้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและแบคทีเรีย รวมตัวกับเส้นขนอ่อน ๆ แล้วอุดตันอยู่ภายในรูขุมขน เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศทำให้เกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีดำบริเวณจมูก
    • สิวหัวขาว (Whiteheads) เป็นสิวอุดตันหัวปิดที่ก่อให้เกิดตุ่มนูนเป็นจุดสีขาวบนจมูก และอาจพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบได้

    วิธีรักษาเมื่อเป็นสิวที่จมูก

    สิวที่จมูก สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปซึ่งสามารถช่วยกำจัดแบคทีเรีย ขจัดน้ำมันส่วนเกิน และกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ดังต่อไปนี้

  • เรตินอยด์ ยาในกลุ่มเรตินอยด์ เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) แบบเจล ความเข้มข้น 0.1-0.3% เตรทติโนอิน (Tretinoin) แบบครีม ความเข้มข้น 0.025 และ 0.05 % รวมถึงทาซาโรทีน (Tazarotene) เป็นยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอในรูปแบบครีม เจล หรือโลชั่น ใช้ทาเฉพาะที่เพื่อป้องกันรูขุมขนอุดตัน
  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ลดรอยแดงและการอักเสบ ควรใช้ควบคู่กับยารักษาสิวอื่น ๆ เพื่อป้องกันการดื้อยา
  • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) แบบครีมและแบบเจล ความเข้มข้น 2.5-10% มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียและความมันทั่วใบหน้าและบริเวณจมูก ทั้งนี้ ควรเริ่มใช้ในระดับความเข้มข้นต่ำก่อน เพื่อป้องกันผิวระคายเคือง
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) แบบครีมและโลชั่น ความเข้มข้น 0.5-2% มีส่วนช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วบริเวณรูขุมขนและชำระล้างรูขุมขน ลดสิวอุดตันและลดการอักเสบของสิวที่จมูกได้
  • วิธีป้องกัน สิวที่จมูก

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวที่จมูก อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ วันละไม่เกิน 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวและเหมาะสมกับสภาพผิว โดยอาจสังเกตบนฉลากของผลิตภัณฑ์ซึ่งจะระบุว่าไม่ก่อให้เกิดสิว ปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์
  • ควรล้างทำความสะอาดเครื่องสำอางและครีมกันแดดออกให้หมดจดทุกครั้งก่อนเข้านอน โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องสำอาง จากนั้นจึงล้างหน้าตามปกติ
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้าแรง ๆ เพื่อไม่ให้ผิวระคายเคือง และเปลี่ยนจากการเช็ดหน้ามาเป็นการซับหน้าเบา ๆ ด้วยผ้าขนหนูสะอาดหรือกระดาษทิชชู่สำหรับผิวหน้า
  • หากเป็นสิวที่จมูกจากการใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนยาให้เหมาะสมขึ้น
  • ซักชุดเครื่องนอนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยเฉพาะปลอกหมอนที่อาจมีเชื้อแบคทีเรียและเซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมอยู่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวที่จมูกได้
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะอาจช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล ส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดสิวบริเวณใบหน้าและจมูกลดลงได้
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา