backup og meta

เคล็ดลับหน้าใส สำหรับทุกสภาพผิวทำได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    เคล็ดลับหน้าใส สำหรับทุกสภาพผิวทำได้อย่างไร

    เคล็ดลับหน้าใส และการดูแลทำความสะอาดผิวของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพผิว อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว ที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้น ลดความมัน ปกป้องผิวจากความระคายเคืองและการทำร้ายของแสงแดด อาจช่วยรักษาความชุ่มชื้น บำรุงผิว และทำให้สุขภาพผิวดี หน้าใส เปล่งปลั่งมากขึ้น

    เคล็ดลับหน้าใสสำหรับผู้ที่มีผิวมัน

    ผิวมัน คือ สภาพผิวที่ร่างกายผลิตน้ำมันส่วนเกินมากเกินไป ส่งผลให้ผิวมีความมันมาก อาจทำให้รูขุมขนอุดตันง่ายและเป็นสิวง่าย จึงอาจต้องดูแลผิวตามเคล็ดลับหน้าใสที่ช่วยลดความมันส่วนเกิน ดังนี้

    • การทำความสะอาดผิวหน้า ควรล้างหน้าเป็นประจำทุกวันเช้าและเย็น หรืออาจล้างทำความสะอาดผิวระหว่างวันหากผิวมีความมันมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่แต่งหน้าหรือทาครีมบำรุงผิว ก่อนนอนควรทำความสะอาดผิวหน้าทุกครั้ง เพื่อลดการสะสมความมันและสิ่งสกปรก ที่อาจเป็นสาเหตุของความมันที่เพิ่มขึ้นและปัญหาสิว
    • การทำความสะอาดผม ผู้ที่มีผิวมันมักมีผมมันมากกว่าปกติ ซึ่งน้ำมันส่วนเกินบนผมอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค สิ่งสกปรก ฝุ่นละออง เมื่อผมสัมผัสใบหน้าก็อาจทำให้สิ่งต่าง ๆ บนผมไปสะสมอยู่ที่ใบหน้า ส่งผลทำให้รูขุมขนอุดตันและอาจทำให้เกิดสิว จึงควรสระผมเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดความมันสะสมและป้องกันปัญหาสิวที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การสระผมมากเกินไปอาจทำให้ผมยิ่งมันกว่าเดิมได้เช่นกัน จึงควรเลือกแชมพูสระผมสูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำมัน น้ำหอม และหลีกเลี่ยงการใช้ครีมนวดผมที่มีส่วนผสมของซิลิโคนที่อาจทำให้ผมมันมากขึ้น
    • การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผู้ที่มีผิวมันควรเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะกับสภาพผิว โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมัน ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขนและทำให้เกิดสิว ซึ่งอาจมีส่วนผสมของน้ำ กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) เรตินอล (Retinol) สควาลีน (Squalene) วิตามินบี 3 ชาเขียว ลิโคชาลโคนเอหรือสารสกัดจากชะเอมเทศ (Licochalcone A) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ที่มีส่วนช่วยในการผลัดเซลล์ผิว ลดความมันส่วนเกิน รวมถึงป้องกันการอุดตันบริเวณรูขุมขนและไม่ก่อให้เกิดสิว
    • การสครับผิว ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพและช่วยขจัดสิ่งสกปรกบนผิว จึงอาจช่วยลดความมันได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรสครับผิวเกินสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพราะการสครับผิวมากเกินไปอาจทำร้ายผิวหนังและทำให้ผิวแห้ง จนผิวอาจต้องผลิตน้ำมันมากขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
    • ทาครีมกันแดด แสงแดดเป็นตัวการที่ทำร้ายทุกสภาพผิว จึงควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดดที่อาจทำให้ผิวอ่อนแอลง ส่งผลให้รูขุมขนผลิตน้ำมันมากขึ้น แต่ควรเลือกครีมกันแดดสูตรบางเบาที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันและไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน

    เคล็ดลับหน้าใส สำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง

    ผิวแห้ง คือ ผิวที่ขาดความชุ่มชื้น แห้งตึง และขาดความยืดหยุ่น ซึ่งอาจทำให้ผิวดูหมองคล้ำและไม่กระจ่างใส ทั้งยังอาจทำให้ผิวลอก แตก หรือเป็นขุย จึงอาจต้องดูแลผิวหน้าตามเคล็ดลับหน้าใสที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง ดังนี้

  • การทำความสะอาดผิวหน้า ผู้ที่มีผิวแห้งบางคนอาจมีสภาพผิวแพ้ง่ายร่วมด้วย จึงควรล้างหน้าเป็นประจำทุกวันเช้าและเย็น ด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง และไม่ควรอาบน้ำเกิน 5-10 นาที เพราะน้ำอาจล้างเอาน้ำมันตามธรรมชาติบนผิวออก ส่งผลให้ผิวแห้งตึง นอกจากนี้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม แอลกอฮอล์และไม่ทำให้ผิวแห้งตึง เพื่อขจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกบนผิว รวมถึงควรล้างหน้าอย่างเบามือ ไม่ควรขัดหรือใช้สครับผิวเพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ง่าย
  • การให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หลังจากทำความสะอาดผิวควรให้ความชุ่มชื้นกับผิวทันที โดยซับผิวให้แห้ง จากนั้นทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer) หรือชโลมน้ำมันทาผิวให้ทั่ว เพื่อทดแทนน้ำมันตามธรรมชาติบนผิวที่เสียไประหว่างอาบน้ำ ช่วยให้ผิวยังคงความชุ่มชื้นและช่วยลดความระคายเคืองผิวอีกด้วย
  • การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว อาจเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวประเภทน้ำมันที่ให้ความชุ่มชื้นสูง โดยอาจมีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ปิโตรเลียม เจลลี (Petroleum Jelly) ไดเมทิโคน (Dimethicone) ลาโนลิน (Lanolin) น้ำมันแร่ (Mineral Oil) พาราฟินเหลว (Liquid Paraffin) ยูเรีย (Urea) โจโจ้บาออยล์ (Jojoba Oil) น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันเมล็ดองุ่น เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) ขี้ผึ้ง (Beeswax Cholesterol) กรดไขมัน กรดแลคติก (Lactic Acid) และซูโดเซอราไมด์ (Pseudo-Ceramides) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ทั้งยังช่วยลดอาการคันและระคายเคืองผิว
  • การใช้เครื่องทำความชื้น สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน แห้ง และผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย อาจต้องใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในบ้าน ทั้งยังช่วยลดปัญหาผิวแห้งตึงและอาการคันได้
  • ทาครีมกันแดด ผิวแห้งเป็นผิวบอบบางที่อาจถูกทำร้ายจากมลภาวะได้ง่ายโดยเฉพาะแสงแดด จึงควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยเลือกสูตรที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวและไม่ก่อให้เกิดสิว
  • เคล็ดลับหน้าใส สำหรับผู้ที่มีผิวผสม

    ผิวผสม คือ ผิวที่มีลักษณะผสมระหว่างผิวมันและผิวแห้ง โดยเฉพาะบริเวณทีโซน (T-Zone) เช่น จมูก คาง หน้าผาก จะมีความมันเป็นพิเศษ จึงอาจต้องมีเคล็ดลับหน้าใสที่เหมาะสมกับผู้ที่มีผิวผสม ดังนี้

    • การทำความสะอาดผิว ผู้ที่มีผิวผสมอาจมีขั้นตอนในการทำความสะอาดใบหน้ามากกว่าผิวชนิดอื่น เพราะอาจต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 2 ชนิด โดยใช้สูตรอ่อนโยนทำความสะอาดบริเวณผิวแห้ง และใช้สูตรช่วยลดความมันนำมาทำความสะอาดบริเวณที่มีผิวมัน เพื่อช่วยปรับสมดุลผิวทั้ง 2 บริเวณให้เท่ากัน โดยควรทำความสะอาดผิวเป็นประจำทุกวันเช้าและเย็น หรือบางคนอาจทำความสะอาดผิวระหว่างวันในบริเวณที่มีความมันเพื่อลดน้ำมันส่วนเกินบนผิว
    • การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผู้ที่มีผิวผสมอาจต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิวในแต่ละจุด จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีเนื้อบางเบาในบริเวณที่ผิวมัน และผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อหนักกว่าในส่วนที่ผิวแห้ง โดยอาจมีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก และทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) ที่อาจช่วยผลัดเซลล์ผิว ลดความมันในบริเวณที่ผิวมันและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในบริเวณที่ผิวแห้ง
    • การสครับผิว อาจเป็นวิธีที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพและช่วยขจัดสิ่งสกปรกบนผิว แต่ไม่ควรสครับผิวเกินสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยอาจเน้นสครับเฉพาะบริเวณที่มีผิวมันมากและหลีกเลี่ยงในบริเวณที่มีผิวแห้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรืออาจทำให้ผิวที่บอบบางถูกทำร้ายมากกว่าเดิม
    • ทาครีมกันแดด ครีมกันแดดสำคัญต่อทุกสภาพผิว เนื่องจาก ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด ซึ่งอาจทำให้ผิวบอบบางและอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับสภาพผิวในแต่ละจุด เช่น หลีกเลี่ยงส่วนผสมของน้ำมันในบริเวณที่มีผิวมัน เลือกส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้นในบริเวณที่มีผิวแห้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา