backup og meta

สิวอุดตันเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

สิวอุดตันเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

หลายคนอาจสงสัยว่า สิวอุดตันเกิดจากอะไร สิวอุดตันเป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดตันในรูขุมขน จนเกิดเป็นตุ่มสิวที่มีลักษณะนูน แดง และอาจมีอาการเจ็บปวดเมื่อสัมผัสหรือถูกเสียดสี รวมถึงอาจมีการสะสมของหนอง ดังนั้น จึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอถึงวิธีการรักษาและการดูแลผิวอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้ผิวเรียบเนียนและป้องกันไม่ให้สิวอุดตันเกิดขึ้นซ้ำ

[embed-health-tool-heart-rate]

สิวอุดตันเกิดจากอะไร

สิวอุดตันเกิดจากเซลล์ผิวเก่า น้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรก เข้าไปอุดตันในรูขุมขน ทำให้เกิดการอักเสบและสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ อีกทั้งยังอาจมีการสะสมของไขมันและหนอง โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตัน อาจมีดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือช่วงวัยรุ่น ร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามากจนอุดตันในรูขุมขนและทำให้เกิดสิวอุดตัน
  • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากจนอุดตันในรูขุมขนและเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตัน
  • การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูเช่น ขนมปังขาว ขนมหวาน อาจทำให้เกิดสิวอุดตันหรือทำให้สิวที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลงได้
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การนำมือไปสัมผัสกับใบหน้าบ่อยครั้ง การล้างหน้าไม่สะอาดหรือการไม่ล้างเครื่องสำอางก่อนนอน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน ที่อาจส่งผลให้น้ำมันส่วนเกิน และสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขน และนำไปสู่การเกิดสิวอุดตัน
  • ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม (Lithium) ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพราะยาเหล่านี้อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น จนอุดตันรูขุมขนและส่งผลให้เกิดสิวอุดตัน

วิธีรักษาสิวอุดตัน

วิธีรักษาสิวอุดตันอาจขึ้นอยู่กับว่าสิวอุดตันเกิดจากอะไร ซึ่งอาจมีวิธีดังต่อไปนี้

วิธีรักษาสิวอุดตันด้วยยา

ยารักษาสิวอุดตันจะมีในรูปแบบยาทาเฉพาะที่และแบบรับประทาน โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือตามคำแนะนำจากคุณหมอ ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาสิวอุดตัน มีดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่มีในรูปแบบเจลและครีมสำหรับทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ลดการอักเสบของสิว โดยควรใช้ร่วมกับยากลุ่มเรตินอยด์ในช่วง 2-3 เดือนแรก ซึ่งควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้าและทายากลุ่มเรตินอยด์ในช่วงเวลากลางคืนหรือก่อนนอน เพื่อให้การรักษาสิวอุดตันมีประสิทธิภาพมากขึ้นและป้องกันการดื้อยา สำหรับยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทาน เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) หรือแมคโครไลด์ (Macrolide) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง สำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ที่เป็นสิวอุดตันควรรับประทานยาแมคโครไลด์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเตตราไซคลีนอาจทำให้ฟันเปลี่ยนสีและส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • กลุ่มยาเรตินอยด์ เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) ที่มีในรูปแบบครีม เจล และโลชั่น เหมาะสำหรับการรักษาสิวอุดตันที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน ในช่วงแรกของการรักษาควรใช้ยากลุ่มนี้เพียง 3 ครั้ง/สัปดาห์ จนกว่าผิวจะชินกับยา จากนั้นจึงค่อยปรับเป็นทาทุกวัน อีกทั้งยังควรทาก่อนนอนเพื่อเนื่องจากยานี้อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด ที่อาจส่งผลให้ผิวลอก ระคายเคืองและผิวหมองคล้ำ
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ใช้เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ผลัดเซลล์ผิวเก่า และป้องกันการอุดตันในรูขุมขน โดยควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ กรดซาลิไซลิกอาจส่งผลข้างเคียงทำให้ผิวแดงหรือระคายเคืองผิวเล็กน้อย
  • แดพโซน (Dapsone) มีในรูปแบบเจล ใช้เพื่อช่วยลดการอักเสบของสิวอุดตัน ควรทาอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในปริมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลเคียง เช่น ผิวแดง ผิวลอก ผิวแห้งกร้าน
  • ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน เป็นยาในรูปแบบรับประทานเหมาะสำหรับการรักษาสิวอุดตันที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะยานี้อาจช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันมากที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน
  • ยาคุมกำเนิดแบบรวม ชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและฮอร์โมนเอสโตรเจน ควรใช้ร่วมกับยารักษาสิวอื่น ๆ ร่วมด้วยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ยาคุมกำเนิดแบบรวมอาจส่งผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เจ็บเต้านม น้ำหนักขึ้น
  • ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เพื่อช่วยรักษาสิว ยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับปานกลางถึงรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงรุนแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ ภาวะซึมเศร้า ดังนั้น จึงควรเข้าพบคุณหมอตามกำหนดเพื่อติดตามอาการในระหว่างการใช้ยา

วิธีรักษาสิวอุดตันด้วยเทคนิคทางการแพทย์

  • การใช้กรดซาลิไซลิก (Salicylic) ใช้เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก เพื่อให้หัวสิวค่อย ๆ โผล่ ทำให้สามารถกดสิวเพื่อเอาหนองและไขมันที่อุดตันในรูขุมขนออกง่ายขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตันในระดับไม่รุนแรง แต่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง
  • การบำบัดด้วยแสง อาจช่วยลดสิวอุดตันและการอักเสบของสิวอุดตัน โดยคุณหมอจะพิจารณาแสงที่เหมาะสมจากอาการของสิว แต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้หลายครั้ง
  • การกดสิว คุณหมออาจใช้อุปกรณ์กดสิว เพื่อนำไขมันและหนองที่อุดตันในรูขุมขนออก แต่อาจก่อให้เกิดแผลเป็นได้หากกดสิวอุดตันที่มีขนาดใหญ่
  • การฉีดสเตียรอยด์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิว โดยคุณหมอจะฉีดยาเข้าสู่สิวอุดตันที่อักเสบ ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยวิธีนี้
  • อาจส่งผลให้ผิวบางลงและผิวหนังเปลี่ยนสีบริเวณที่ฉีด
  • การเลเซอร์ฆ่าเชื้อสิว

การดูแลผิวป้องกันสิวอุดตันขึ้น

เมื่อทราบสาเหตุว่าสิวอุดตันเกิดจากอะไร ก็อาจสามารถดูแลผิวเพื่อป้องกันสิวอุดตันได้ดังนี้

  • ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ด้วยสบู่สูตรอ่อนโยนที่เหมาะกับสภาพผิวและปราศจากน้ำหอม เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกินที่ตกค้างบนผิว
  • ควรอาบน้ำเมื่อมีเหงื่อออกมาก เพื่อขจัดสิ่งสกปรกลดการอุดตันในรูขุมขนที่อาจก่อให้เกิดสิว
  • หลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสกับใบหน้า เพราะสิ่งสกปรกบนมืออาจทำให้รูขุมขนอุดตันและก่อให้เกิดสิวอุดตัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการบีบสิวด้วยตัวเองเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทำให้สิวอักเสบยิ่งขึ้น
  • ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า Non-comedogenic และปราศจากแอลกอฮอล์ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมทำให้เกิดการระคายเคือง ป้องกันการอุดตันที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวอุดตันได้
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า หรือควรเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดและล้างหน้าให้สะอาดก่อนนอน ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน เพราะอาจเสี่ยงต่อการอุดตันในรูขุมขนที่ก่อให้เกิดสิว
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 15 นาที และควรทากันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หากเป็นไปได้ควรงดออกจากบ้านในช่วงที่แดดจัด
  • ใช้กระดาษซับหน้ามันระหว่างวัน เพื่อช่วยดูดซับความมันและลดการอุดตันน้ำมันในรูขุมขนที่ก่อให้เกิดสิวอุดตันขึ้น
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูหนัง นอนพักผ่อน เล่นเกม เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวอุดตันได้
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพผิว โดยเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และอาหารไขมันต่ำ เช่น ปลาแซลมอน อะโวคาโด ส้ม แอปเปิ้ล มะเขือเทศ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อัลมอนด์ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง เช่น  ขนมหวาน อาหารแปรรูป เพราะอาจส่งผลให้เป็นสิวง่ายขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047 .Accessed December 20, 2022

เป็นสิว…ไม่ธรรมดา. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=781 .Accessed December 20, 2022

What to Know About Blind Pimples. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/what-to-know-about-blind-pimples .Accessed December 20, 2022

Management of comedonal acne vulgaris with fixed-combination topical therapy. Comedonal acne. https://dermnetnz.org/topics/comedonal-acne .Accessed December 20, 2022

ACNE: TIPS FOR MANAGING. https://www.aad.org/public/diseases/acne/skin-care/tips#treatment .Accessed December 20, 2022

Dapsone Gel – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-151358/dapsone-topical/details .Accessed December 20, 2022

Isotretinoin Capsule – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6662/isotretinoin-oral/details .Accessed December 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและการป้องกันอย่างไร

ตําแหน่งสิวบอกโรค ได้หรือไม่ ควรดูแลผิวอย่างไรเพื่อป้องกันสิว


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา