สิวไม่มีหัว นูนๆ หรือสิวตุ่มนูน เป็นสิวอักเสบที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนที่ส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัสหรือถูกเสียดสี ซึ่งควรรักษาด้วยการทายาเฉพาะที่ตามที่คุณหมอแนะนำ และไม่ควรบีบหรือเจาะสิวด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและการอักเสบมากขึ้น รวมถึงอาจทิ้งรอยแผลเป็นฝังลึก ทำให้ผิวเป็นรอยด่างดำและผิวไม่เรียบเนียน
[embed-health-tool-ovulation]
สิวไม่มีหัว นูนๆ คืออะไร
สิวไม่มีหัว นูนๆ หรือสิวตุ่มนูน จัดอยู่ในกลุ่มสิวอักเสบชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงหรือเป็นก้อนใต้ผิวหนัง มีขนาดปานกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ และอาจเต็มไปด้วยหนอง มักส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวด โดยเฉพาะเวลาสัมผัสหรือเสียดสี โดยประเภทของสิวไม่มีหัว นูนๆ ได้แก่ สิวหัวช้าง สิวซีสต์ สิวตุ่มแดง (Papules)
สาเหตุของสิวไม่มีหัว นูนๆ
สาเหตุของสิวไม่มีหัว นูนๆ หรือสิวต่อมนูน มีดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นสิวไม่มีหัว นูนๆ บุตรหลานก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดสิวประเภทนี้ได้มากกว่าปกติ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หากปริมาณของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือวัยรุ่น อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามาก นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นสิวไม่มีหัว นูนๆ ได้
- สิ่งสกปรก เช่น เหงื่อ ฝุ่น ควัน อาจก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน และนำไปสู่การเกิดสิว
- การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง เช่น ขนมปังขาว มันฝรั่งทอด อาหารแปรรูป ขนมหวาน อาจส่งผลให้อาการสิวที่เป็นอยู่อักเสบและมีอาการแย่ลง
- ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากจนอุดตันในรูขุมขน และเสี่ยงต่อการเกิดสิว
- ยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเทียม (Lithium) ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ที่อาจส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจนอุดตันรูขุมขนและก่อให้เกิดสิว
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน การเช็ดเครื่องสำอางไม่สะอาดหรือการไม่ล้างเครื่องสำอางก่อนนอน เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตันจากสิ่งสกปรก จนนำไปสู่การเกิดสิว
การรักษาสิวไม่มีหัว นูนๆ หรือสิวตุ่มนูน
การรักษาสิวไม่มีหัว นูนๆ อาจทำได้ดังนี้
การใช้ยาทาเฉพาะที่
ยาทาเฉพาะที่ในรูปแบบเจล ครีม โลชั่น และขี้ผึ้ง โดยควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาสิวไม่มีหัว นูนๆ ได้แก่
- กลุ่มยาเรตินอยด์ คือยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) เหมาะสำหรับรักษาสิวที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตันโดยควรใช้เพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในช่วงแรกของการรักษาจนกว่าผิวจะชินกับยา และควรทาก่อนนอนเพราะเรตินอยด์อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด ผิวลอกและระคายเคืองได้
- ยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง ลดการอักเสบของสิวและลดรอยแดง โดยควรใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะรักษาเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาและช่วยให้การรักษาสิวไม่มีหัว นูนๆ หรือสิวตุ่มนูนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้าและทายากลุ่มเรตินอยด์ในช่วงเวลากลางคืนหรือก่อนนอน
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ใช้เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันการอุดตันในรูขุมขน โดยควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ ยานี้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ผิวแดง ระคายเคืองผิว
ยารักษาสิวในรูปแบบรับประทาน
- ยาปฏิชีวนะ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวในระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง เพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย สำหรับบุคคลทั่วไปคุณหมออาจให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) หรือแมคโครไลด์ (Macrolide) สำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรใช้ยาแมคโครไลด์ เนื่องจากยาเตตราไซคลีนอาจส่งผลให้ฟันเปลี่ยนสีถาวรและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยากลุ่มอนุพันธุ์วิตามินเอ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวในระดับปานกลางถึงรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบอื่น ๆ ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ภาวะซึมเศร้า เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบ อีกทั้งในระหว่างที่ใช้ยานี้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนดเพื่อติดตามผลข้างเคียง
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ทำให้ต่อมไขมันขยาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวอุดตันไม่มีหัวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
การรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์
- การบำบัดด้วยแสง คือการฉายแสงเพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ช่วยลดอาการอักเสบ และอาจช่วยลดการผลิตน้ำมันจากต่อมไขมัน โดยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง
- การลอกผิวด้วยสารเคมี เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าด้านบนออกทำให้หัวสิวค่อย ๆ โผล่ออกมา และช่วยบรรเทาการอุดตันของสิว แต่อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบผิว ผิวแดง และผิวไวต่อแสง
- การฉีดสเตียรอยด์ การฉีดสเตียรอยด์เข้าสู่สิวโดยตรง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากสิวและช่วยให้สิวยุบลงไวขึ้น แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังเปลี่ยนสี ผิวหนังบางลง
ในระหว่างการรักษาสิวอุดตันไม่มีหัวคุณหมออาจแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพผิวเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้สิวมีอาการแย่ลงและกลับมาเป็นซ้ำ ดังนี้
- ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยนที่เหมาะกับสภาพผิวและปราศจากน้ำหอม อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกินที่ตกค้างบนผิว
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า หากแต่งหน้าก็ควรเช็ดเครื่องสำอางออกและล้างหน้าให้สะอาดทุกครั้งก่อนนอน
- ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า Non-comedogenic เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมทำให้รูขุมขนอุดตันที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสิวได้
- หลีกเลี่ยงการขัดผิวรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า เพราะมืออาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่ทำให้ผิวระคายเคือง เกิดการอักเสบนำไปสู่สิวอุดตันไม่มีหัว
- ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 15 นาที ควรทากันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หากเป็นไปได้ควรงดออกจากบ้านในช่วงที่แดดจัด
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น นอนพักผ่อน ดูหนัง เล่นเกม ออกกำลังกาย เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและน้ำมัน ที่นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขน
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และอาหารไขมันต่ำ เช่น ปลาแซลมอน อะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน ส้ม แอปเปิ้ล มะเขือเทศ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อัลมอนด์ ถั่วเหลือง และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน อาหารแปรรูป รวมถึงของเผ็ดเพราะอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตเหงื่อมากจนอุดตันในรูขุมขน