backup og meta

สิวฮอร์โมน สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    สิวฮอร์โมน สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

    สิวฮอร์โมน เกิดจากระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนในร่างกายเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้ต่อมไขมันขับน้ำมันออกมามากเกินไป จนส่งผลให้เกิดสิวที่ใบหน้า ลำคอ ไหล่ หลัง และหน้าอก โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาแต้มสิวที่เหมาะสมกับชนิดของสิว และการดูแลผิวอย่างถูกวิธี เช่น ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า งดแกะเกาสิว แต่หากดูแลรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วยังมีสิวขึ้นซ้ำ ๆ หรือสิวแย่ลง ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างตรงจุด

    สิวฮอร์โมน เกิดจาก สาเหตุใด

    สิวฮอร์โมนเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันหรือซีบัม (Sebum) ออกมามากกว่าปกติ เมื่อน้ำมันส่วนเกินรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้วและแบคทีเรียแล้วอุดตันในรูขุมขน อาจทำให้เกิดสิวฮอร์โมนได้

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดสิวได้ มีดังนี้

    ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้

    • ความเครียด
    • การนอนหลับไม่เพียงพอ
    • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและผิวที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน

    ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

    • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นสิวฮอร์โมน
    • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงเป็นประจำเดือน ช่วงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วงตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน หรือหลังหยุดใช้ยาคุมกำเนิด
    • การรักษาโรคด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ลิเธียม (Lithium) เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ไอโซเนียซิด (Isoniazid) ไอโอดีน

    ปัจจัยและพฤติกรรมที่อาจทำให้สิวแย่ลง เช่น

    • มลภาวะและสิ่งสกปรกที่สัมผัสกับใบหน้าและผิวหนัง อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนก่อตัวเป็นสิว
    • ความชื้นในอากาศที่สูงกว่าปกติ ทำให้ผิวสัมผัสกับความร้อนและความชื้นมากขึ้น ส่งผลให้รูขุมขนขยายตัวและผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น
    • การบีบ แกะ เกาสิวที่มีอยู่เดิมจนสิวมีอาการแย่ลง ลุกลามไปส่วนอื่น ๆ หรือติดเชื้อ
    • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเป็นประจำ อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันใหญ่ขึ้นและผลิตซีบัมเคลือบผิวออกมามากกว่าปกติ

    สิวฮอร์โมนเป็นแบบไหน

    สิวฮอร์โมนเป็นสิวที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ แต่พบได้บ่อยในวัยเจริญพันธุ์อายุ 25 ปีขึ้นไป ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน บางครั้งอาจเป็นสิวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น สิวฮอร์โมนอาจมีลักษณะเป็นสิวอักเสบที่บวมแดง สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวตุ่มแดง สิวหัวหนอง สิวซีสต์ มักเกิดบริเวณแก้มทั้งสองข้าง แต่ก็อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ได้ เช่น ตามกรอบหน้า คาง  ลำคอ แผ่นหลัง บ่าและไหล่ หน้าอก

    บางครั้งอาจเกิดความสับสนระหว่างสิวฮอร์โมนและสิวยีสต์ (สิวที่เกิดจากเชื้อรา) เนื่องจากทั้งสองชนิดเป็นสิวที่เกิดภายในรูขุมขนเหมือนกัน แต่สาเหตุการเกิดสิวนั้นแตกต่างกัน สิวฮอร์โมน คือ สิวที่เกิดจากต่อมไขมันหลั่งซีบัมออกมาเคลือบผิวมากเกินไป เมื่อซีบัมหรือน้ำมันส่วนเกินรวมตัวกับเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว จะทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิวฮอร์โมน ในขณะที่สิวยีสต์เกิดจากยีสต์ที่อาศัยอยู่บนผิวหนังเพิ่มจำนวนมากเกินไปจนทำให้รูขุมขนอุดตัน และเกิดเป็นสิวยีสต์ที่มักเป็นสิวอักเสบ บวมแดง คัน และระคายเคืองผิว

    วิธีรักษาสิวฮอร์โมน

    วิธีรักษาสิวฮอร์โมนด้วยการใช้ยา

    • สิวหัวดำและสิวหัวขาว อาจรักษาด้วยการใช้ยาทาเฉพาะที่ เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวใหม่และลดการอุดตันของรูขุมขน อาจช่วยลดจำนวนของสิวมีหัวอย่างสิวหัวดำและสิวหัวขาวได้
    • สิวอักเสบ อาจรักษาด้วยการใช้เรตินอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่ ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ หรือเบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย และลดการอุดตันของรูขุมขน โดยอาจใช้แยกกันหรือใช้ร่วมกันก็ได้
    • สิวซีสต์ อาจรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) อาจช่วยให้สิวยุบได้เร็วขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็น
    • สิวปานกลางและรุนแรง อาจรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะและไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) โดยอาจใช้แยกกันหรือใช้ร่วมกันก็ได้

    วิธีรักษาสิวฮอร์โมนอื่น ๆ

    • การทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวของตัวเอง ไม่มีส่วนผสมที่อาจระคายเคืองผิว เช่น แอลกอฮอล์ น้ำหอม พาราเบน
    • การปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน เช่น ลดการบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตขัดสีอย่างข้าวขาว น้ำหวาน ขนมหวาน ลดการบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิว
    • การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อรักษาสิว (Hormonal therapy) เช่น ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด อาจช่วยลดสิวได้ภายใน 2-3 เดือนหลังใช้ สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) อาจช่วยลดการลุกลามและลดความมันบนผิวหนังภายใน 2-3 สัปดาห์หลังใช้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา เพราะอาจมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ หน้าอกคัดตึง หน้าอกขยาย

    ทั้งนี้ หากรักษาสิวฮอร์โมนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่น เรตินอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่ กรดซาลิไซลิก ไอโซเตรทติโนอิน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

    วิธีป้องกันการเกิด สิวฮอร์โมน

    วิธีป้องกันการเกิด สิวฮอร์โมน อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และใช้ผ้าขนหนูเนื้อนุ่มและสะอาดซับผิวเบา ๆ ให้แห้ง
    • ใช้ครีมกันแดดที่ไม่อุดตันรูขุมขนและมีค่า SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกแดด 15-30 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด อาจช่วยไม่ให้อาการของสิวที่มีอยู่แล้วแย่ลงและเกิดการลุกลามของสิวใหม่
    • ล้างหน้าให้สะอาดเพื่อขจัดคราบครีมกันแดดและเครื่องสำอางก่อนนอนทุกครั้ง
    • สระผมให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อผมมันและสัมผัสใบหน้า
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ

    เป็นสิวฮอร์โมน ควรไปพบคุณหมอหรือไม่

    หากรักษาและดูแลสิวฮอร์โมนด้วยวิธีข้างต้นแล้ว สิวไม่ตอบสนองต่อยา กลับมาเป็นสิวซ้ำบ่อย ๆ สิวมีอาการแย่ลง หรือลุกลามไปบริเวณอื่น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยอาการและหาสาเหตุของสิวที่แน่ชัด คุณหมอจะได้วางแผนการรักษาได้เหมาะสมกับอาการของสิวมากที่สุด และอาจช่วยให้สิวหายได้ภายในเวลาไม่นาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา