สิวเรื้อรัง คือสิวที่เกิดซ้ำ ๆ ในตำแหน่งเดิมหรือเป็น ๆ หาย ๆ มีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ระดับฮอร์โมน พันธุกรรม ความอ้วน ผู้ที่เป็นสิวเรื้อรัง อาจดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยการใช้ยาแต้มสิวอย่างต่อเนื่อง ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง เลี่ยงการสัมผัสใบหน้าตัวเองระหว่างวัน หรือเลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองตามนี้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาต่อไป
[embed-health-tool-bmi]
สิวเรื้อรัง คืออะไร
สิวเรื้อรัง หมายถึง การเป็นสิวซ้ำ ๆ ไม่หายขาด หรือเป็น ๆ หาย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิวอักเสบ สิวหัวดำ สิวอุดตัน สิวหัวหนอง โดยอาการในบางช่วงอาจทุเลาลง แล้วกลับมาเป็นสิวอีกครั้ง
โดยทั่วไปแล้ว สิวมีสาเหตุจากการอุดตันของรูขุมขน ทั้งจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว หรือต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากเกินไป นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียพี แอคเน่ (P. Acne หรือ Propionibacterium Acnes) ยังทำให้เป็นสิวได้เช่นกัน
นอกจากนั้น สาเหตุของการเป็นสิวยังมีหลายประการ ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น กำลังตั้งครรภ์
- การรับประทานของหวาน หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง
- การไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย หรือการใช้มือสกปรกสัมผัสใบหน้า
- การใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ลิเทียม (Lithium)
- พันธุกรรม
- โรคอ้วน
การดูแลตัวเอง เมื่อเป็นสิวเรื้อรัง
เมื่อเป็นสิวเรื้อรัง และอาการของสิวไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาแต้มสิว ควรเลือกดูแลตัวเองเพิ่มเติม ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวตัวเดิมอย่างต่อเนื่อง เพราะผลิตภัณฑ์รักษาสิวมักเริ่มเห็นผลในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังใช้ การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์รักษาสิวบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวระคายเคือง แล้วทำให้เสี่ยงเป็นสิวมากขึ้นได้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการรักษาสิวแตกต่างจากเดิม หากผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ไม่ได้ผลหลังใช้ไปแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ควรเปลี่ยนใช้ผลิตภัณฑ์ตัวอื่นที่มีคุณสมบัติกำจัดสิวจากสาเหตุที่ต่างจากเดิม เช่น หากเดิมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมเรตินอล (Retinoid) ซึ่งมีคุณสมบัติรักษาสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน อาจเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งมีคุณสมบัติกำจัดแบคทีเรียพี แอคเน่ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของสิว
- ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง หรือเมื่อตื่นนอนและก่อนเข้านอน เพื่อให้ใบหน้าสะอาด ลดโอกาสการเกิดสิวใหม่ ไม่ควรล้างหน้าถี่ ๆ หรือถูหน้าแรง ๆ เพราะอาจทำให้ใบหน้าระคายเคือง และอาการของสิวรุนแรงยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการบีบหรือสัมผัสสิว เพราะอาจยิ่งเพิ่มโอกาสให้สิวติดเชื้อ อักเสบ หรืออาการแย่ลงได้
- เลือกใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวชนิดเวชสำอาง เช่น เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมน้ำมัน หรือไม่ทำให้รูขุมขนอุดตัน หรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยต่อผิว
- ใช้ยาแต้มสิวทาบริเวณรอบ ๆ ที่เป็นสิว เพราะนอกจากจะช่วยรักษาสิวที่เป็นอยู่แล้ว ยังอาจช่วยลดโอกาสเป็นสิวเม็ดใหม่บริเวณใกล้เคียงจุดเดิมด้วย
- ไปพบคุณหมอ หากดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วสิวเรื้อรังยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดูแลตัวเอง เพราะตุ่มแดงบนใบหน้าหรือตามร่างกาย อาจไม่ใช่สิว แต่เป็นอาการของโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) ขนคุด ต่อมเหงื่ออักเสบ หรือรูขุมขนอักเสบ
การรักษา สิวเรื้อรัง
เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวแล้วสิวไม่หายขาด ผู้ที่เป็นสิวควรไปพบคุณหมอ โดยคุณหมออาจเลือกรักษาสิวในแต่ละรายแตกต่างกันไปตามสภาพผิวและสาเหตุการเกิดสิว โดยทั่วไป คุณหมอมักเลือกรักษาสิวด้วยการสั่งยาดังต่อไปนี้
- ยาฆ่าเชื้อ เช่น ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลีน (Tetracycline) มักเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่คุณหมออาจใช้ โดยยาฆ่าเชื้อจะช่วยลดอาการอักเสบหรือบวมแดงของสิว และอาจทำให้สิวหายง่ายขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยารักษาสิว
- ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยารักษาสิวโดยตรง เนื่องจากมีคุณสมบัติกดการทำงานของต่อมผลิตน้ำมันใต้ผิวหนังจึงอาจช่วยลดโอกาสเป็นสิวจากน้ำมันอุดตันรูขุมขน นอกจากนี้ ไอโซเตรติโนอินยังช่วยลดจำนวนแบคทีเรียพี แอคเน่ที่เป็นสาเหตุการเกิดสิว ทั้งนี้ สถาบันผิวหนังของสหรัฐอเมริกา (American Academy Dermatology) ระบุในคู่มือการใช้ยาไอโซเตรติโนอินปี พ.ศ. 2535 ว่า ไอโซเตรติโนอินเป็นยารักษาสิวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้ที่รักษาสิวด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้ 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นสิวควรใช้ยาชนิดนี้ประมาณ 4 เดือนเพื่อผลที่ชัดเจนนอกจากนั้น องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ยังได้อนุมัติการใช้ยาไอโซเตรติโนอินเพื่อรักษาสิวหัวช้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 อย่างไรก็ตาม ไอโซเตรติโนอินมีผลข้างเคียงหลายประการ เช่น ผิวหนังแห้ง ลอก และไวต่อแสง ตาแห้ง ได้ยินเสียงหวีดในหู ไขมันในเลือดสูง ปวดกล้ามเนื้อ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และควรใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอ
- สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นยาขับปัสสาวะที่มีคุณสมบัตช่วยชะลอการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมันของต่อมใต้ผิวหนัง การใช้ยาสไปโรโนแลคโตน จึงอาจช่วยลดการเกิดสิว ทั้งนี้ ยาสไปโรโนแลคโตนมักใช้กับเพศหญิงเท่านั้น เพราะมีผลข้างเคียงทำให้เต้านมขยาย หากใช้กับเพศชายอาจทำให้เต้านมขยายและโตขึ้นผิดปกติ
- ยาคุมกำเนิด ในเพศหญิงที่มีปัญหาสิวเรื้อรัง คุณหมออาจให้รับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนสังเคราะห์เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นส่วนประกอบ เพื่อลดปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ร่างกายผลิตได้ และทำให้น้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนังมีปริมาณน้อยลง ช่วยลดโอกาสเกิดสิวใหม่