backup og meta

อาการลมพิษ สาเหตุ และวิธีการรักษา

อาการลมพิษ สาเหตุ และวิธีการรักษา

อาการลมพิษ เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดจากร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และปล่อยสารฮิสตามีนที่ทำให้ผิวหนังบวมและมีอาการคันที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น หน้าท้อง หน้าอก ต้นแขน ขาส่วนบน ก้น หลัง บางคนอาจมีอาการในระดับรุนแรงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้น หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอย่างรวดเร็ว

[embed-health-tool-bmr]

อาการลมพิษ มีสาเหตุมาจากอะไร

อาการลมพิษ มีสาเหตุมาจากร่างกายเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น อาหาร ฝุ่นละออง แสงแดด ละอองเกสร ขนสัตว์ นอกจากนี้ อาการของลมพิษยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภทที่พบได้บ่อยและมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ลมพิษเฉียบพลัน อาจมีสาเหตุมาจากการแพ้พิษจากแมลงกัดต่อย ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) รวมถึงการแพ้อาหาร เช่น ถั่ว มะเขือเทศ ไข่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ นม อาหารทะเล ช็อกโกแลต สารกันบูดหรือสารเคมีเจือปนในอาหาร ที่ส่งผลให้มีผื่นขึ้น และมีอาการคันไม่เกิน 6 สัปดาห์
  • ลมพิษเรื้อรัง อาจมีสาเหตุไม่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากสิ่งกระตุ้นรอบตัว เช่น อาหาร แสงแดด ละอองเกสร ผลข้างเคียงจากโรคมะเร็ง ไวรัสตับอักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ โรคภูมิต้านตัวเอง หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหต ลมพิษเรื้อรังจะมีอาการคัน ผิวบวม ผื่นขึ้นต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์ เป็นเดือนหรือปี อีกทั้งยังลมพิษเรื้อรังยังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะ เช่น ปอด กล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น เมื่อมีอาการที่แย่ลงหรือเป็นนานกว่า 6 สัปดาห์ ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว
  • ลมพิษที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพ อาจมีสาเหตุมาจากการถูกกระตุ้นผิวหนังโดยตรงและจะปรากฏผื่นลมพิษ ผิวหนังบวมภายใน 1 ชั่วโมง เฉพาะจุดที่ถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ฝุ่น แสงแดด น้ำ การสั่นสะเทือน การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมจนเหงื่อออกมาก การเกา สภาพอากาศที่เย็นและร้อน

อาการลมพิษ เป็นอย่างไร

อาการของลมพิษ อาจสังเกตได้ดังนี้

  • รอยผื่นลมพิษเป็นวงแหวนที่อาจกระจายทั่วทั้งร่างกายหรือติดกันเป็นปื้นใหญ่
  • ผิวหนังบวมเป็นสีแดงอย่างเห็นได้ชัด
  • อาการคันและแสบร้อนผิวหนัง
  • ผื่นลมพิษที่อาจปรากฏขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาอาการแพ้ และอาจเป็นได้นานกว่า 6 สัปดาห์

หากมีอาการลมพิษในระดับรุนแรง เช่น มีไข้สูง รู้สึกไม่สบายตัว ผื่นลมพิษกระจายตัว วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ใบหน้า ลิ้น และริมฝีปากบวม ควรรีบเข้ารับการรักษาจากคุณหมอทันที

วิธีรักษาอาการลมพิษ

วิธีรักษาอาการลมพิษ มีดังนี้

  • โลชั่นหรือครีม ที่มีส่วนประกอบของเมนทอล (Menthol) เพื่อบรรเทาอาการคันชั่วคราว
  • ยาแก้แพ้ เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) ยาต้านฮิสทามีน (Antihistamines) เพื่อบรรเทาอาการคันและบวมจากผื่นลมพิษ โดยควรรับประทานตามที่คุณหมอแนะนำเนื่องจากอาการลมพิษของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาในรูปแบบรับประทานหรือทาบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เหมาะสำหรับลมพิษระดับรุนแรง เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน ลดการอักเสบ โดยควรใช้ในปริมาณที่คุณหมอแนะนำตามอาการของแต่ละบุคคล
  • ยาโอมาลิซูแมบ (Omalizumab) เป็นยาในรูปแบบฉีด เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นลมพิษเรื้อรังหรือมีอาการหอบหืดร่วมด้วย ซึ่งควรใช้รักษาผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ในระหว่างที่เป็นลมพิษหรือหลังจากรักษาหายแล้วควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการเกาผิว เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรอ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม สวมเสื้อผ้าที่มีการระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นเพื่อป้องกันเหงื่อออก นำไปสู่ความอับชื้น เพราะอาจทำให้อาการลมพิษแย่ลงหรือเสี่ยงเป็นซ้ำได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hives https://www.nhs.uk/conditions/hives/.Accessed January 18, 2023   

HIVES: SELF-CARE. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/HIVES-SELF-CARE.Accessed January 18, 2023   

HIVES: DIAGNOSIS AND TREATMENT. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/HIVES-TREATMENT.Accessed January 18, 2023   

10 WAYS TO GET RELIEF FROM CHRONIC HIVES. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/hives-chronic-reliefcHives and Your Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/hives-urticaria-angioedema.Accessed January 18, 2023

Hives. https://acaai.org/allergies/allergic-conditions/skin-allergy/hives/.Accessed January 18, 2023    

Hives. https://medlineplus.gov/hives.html.Accessed January 18, 2023   

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำจมูก ระยะเวลาฟื้นตัว และการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

โบท็อก คืออะไร ประโยชน์ ความเสี่ยง และผลข้างเคียงที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา