backup og meta

แสบหน้า เกิดจากอะไร สาเหตุและวิธีแก้อาการแสบหน้า

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

    แสบหน้า เกิดจากอะไร สาเหตุและวิธีแก้อาการแสบหน้า

    อาการ แสบหน้า เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศ ความร้อนจากแสงแดด การเปลี่ยนครีมบำรุงผิวหน้า การเลือกใช้เครื่องสำอาง รวมไปถึงปัจจัยด้านสุขภาพและโรคต่าง ๆ ล้วนมีผลให้เกิดความรู้สึกแสบร้อนบนใบหน้าขึ้นมาได้ ดังนั้น จึงควรรู้จักสังเกตอาการหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม 

    อาการ แสบหน้า เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ 

  • แสบหน้าจากแสงแดดและอากาศร้อน
  • สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการแสบหน้า หรือแสบร้อนผิว ในเมืองไทย คือ แสงแดดและอุณหภูมิที่สูง โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน แม้ว่าแสงแดดจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี แต่ในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. เป็นช่วงที่แสงแดดจัด อาจทำร้ายผิวพรรณได้ เพราะในแสงแดดมีรังสียูวี ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง เมื่อต้องเจอกับแสงแดดจัดเป็นระยะเวลานาน ซึ่งแสงอัลตราไวโอเลต หรือ UV ประกอบด้วย

    1. ยูวีเอ (UVA) ความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร มีช่วงคลื่นที่ยาวกว่าจึงทะลุถึงชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ซึ่งอาจกระตุ้นการสร้างเมลานิน ส่งผลให้เกิดผิวคล้ำแดดและเป็นฝ้ากระได้  
    2. ยูวีบี (UVB) ความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร อาจส่งผลให้ผิวเกรียมแดด ทำให้ผิวหนังอักเสบ บวมแดง แสบหน้า อาจบวมพองปวดแสบร้อน เมื่อผิวไหม้แห้งกร้าน ผิวจะเหี่ยวย่นทำให้ผิวแก่ก่อนวัย

    นอกจากอาการแสบหน้า และผลกระทบมากมายต่อผิวพรรณแล้ว หากผจญกับแสงแดดเป็นประจำทุกวัน อาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนังได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงแสงแดดจัด สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว อาจใส่หมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เพื่อป้องกันแสงแดด และหมั่นทาครีมกันแดดทุกวัน แม้จะอยู่ในร่ม โดยเลือกครีมกันแดดชนิดที่เหมาะกับผิว มีค่า SPF 30 ขึ้นไป และควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถปกป้องผิวจากยูวีบี ไม่ให้เกิดอาการไหม้ และครีมกันแดดนั้นต้องมีส่วนผสมของสารกันแดดที่สะท้อนแสง ช่วยป้องกันยูวีเอได้ด้วย 

    • แสบหน้าผิวแห้งช่วงหน้าหนาว

    นอกจากความร้อนและแสงแดดที่ทำให้เกิดอาการแสบหน้า ได้แล้ว ผิวหนังในช่วงหน้าหนาวที่แห้งก็ทำให้เกิดอาการแสบหน้าได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคผิวหนังอยู่ โดยช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นและแห้ง ผิวหน้าก็จะแห้ง ลอก หยาบกร้าน ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังก็จะแสดงอาการออกมา เช่น ผิวหนังแห้ง คัน แดง รู้สึกแสบ 

    สำหรับการดูแลผิว แม้ว่าจะอากาศหนาวแต่ไม่ควรอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นบ่อยเกินไป ควรเลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยน หมั่นทาครีมบำรุงป้องกันผิวหน้าและผิวกายไม่ให้แสบเพราะผิวแห้ง

    • แสบหน้าจากการแพ้ครีมหรือเครื่องสำอาง

    การเลือกซื้อครีมหรือเครื่องสำอางก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะครีมหรือเครื่องสำอางนั้นใช้กับผิวหน้าโดยตรง เมื่อเกิดอาการแพ้ครีมหรือเครื่องสำอาง อาจทำให้ผิวหน้าเกิดอาการแสบหน้าได้ จึงจำเป็นต้องทดสอบการแพ้ก่อนใช้ โดยวิธีทดสอบการแพ้เบื้องต้น ทำได้โดยการทาครีมหรือเครื่องสำอางที่ท้องแขนข้างใดข้างหนึ่ง ทาให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ทดลองทาวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า ช่วงเย็น ระยะเวลานาน 1 สัปดาห์

    หากเกิดผื่นแดง แสบ คัน อาจมีสารบางชนิดในครีมหรือเครื่องสำอางที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ จึงไม่ควรนำครีมหรือเครื่องสำอางมาใช้ และในครีมหรือเครื่องสำอางบางชนิดมีสารกันเสีย น้ำหอม หรือแอลกอฮอล์ ทำให้ผิวหน้าเกิดการระคายเคืองได้เช่นกันจึงต้องระมัดระวัง หรือบางกรณีที่ใช้ไปสักพักแล้วเกิดอาการแพ้ แสบหน้า ให้หยุดใช้ทันที

    • แสบหน้าจากโรคผื่นผิวหนังอักเสบ 

    โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) สาเหตุสำคัญของการเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังนี้ เกิดได้จากโรคภูมิแพ้โดยกำเนิด (Atopic) ส่งผลให้มีอาการผิวแห้งทั่วทั้งตัว เมื่อโตขึ้นอาการจะพบที่ข้อพับแขนและข้อพับขา และอีกสาเหตุสำคัญ คือ การสัมผัสสารระคายเคือง หรือสารก่อภูมิแพ้ เมื่อผิวหนังแห้งจึงมีอาการคัน แสบหน้า และแสบบริเวณต่าง ๆ ในร่างกายได้ ในระยะเฉียบพลันจะเกิดรอยแดง บวม ลอกเป็นขุย แต่หากปล่อยไว้นานจนเป็นระยะเรื้อรัง จะเกิดรอยหนา ผิวด้าน มีอาการคันเรื้อรัง 

    เมื่อพบว่ามีอาการของ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม หากทราบว่าเกิดจากการแพ้สารชนิดใดควรหลีกเลี่ยง หรือให้แพทย์ทำการทดสอบผิวหนังเพื่อให้ทราบสาเหตุอย่างชัดเจน

    อาการแสบหน้าในแต่ละบุคคลอาจเกิดได้จากการระคายเคืองเมื่อฤดูเปลี่ยน สัมผัสกับแสงแดดจ้า หรืออุณหภูมิต่ำในช่วงหน้าหนาว รวมถึงการเลือกใช้ครีมหรือเครื่องสำอางก็มีผลเช่นกัน หากความรู้สึกแสบบริเวณใบหน้าไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา