สาเหตุที่ทำให้ โดนผึ้งต่อย อาจมาจากการเข้าไปรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้ง เช่น การเก็บน้ำผึ้ง การตัดต้นไม้ ทำให้ผึ้งป้องกันตัวโดยใช้เหล็กในทิ่มเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งภายในเหล็กในประกอบด้วยพิษที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีอาการผิวหนังบวมแดง เจ็บปวด และอาจส่งผลอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผึ้ง ดังนั้น เมื่อโดนผึ้งต่อยจึงควรปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง และเข้ารับการรักษาโดยคุณหมอในทันทีหากมีอาการรุนแรง
สาเหตุที่ทำให้ โดนผึ้งต่อย
สาเหตุที่โดนผึ้งต่อย ส่วนใหญ่เกิดจากการเข้าใกล้รังผึ้งหรือบริเวณที่ผึ้งมักชอบทำรัง เช่น ต้นไม้ ป่า สวน เพราะอาจทำให้ผึ้งรู้สึกถูกรุกรานและป้องกันตัวด้วยการต่อย ผู้ที่เสี่ยงโดนผึ้งต้อย อาจเป็นผู้ที่มีอาชีพเก็บน้ำผึ้ง รวงผึ้ง เพื่อนำมาประกอบอาหารหรือจำหน่าย
อาการที่ควรสังเกตเมื่อ โดนผึ้งต่อย
อาการที่ควรสังเกตเมื่อโดนผึ้งต่อย มีดังนี้
อาการในระดับไม่รุนแรง
- ปวดแสบปวดร้อนทันทีเมื่อโดนผึ้งต่อย
- ผิวหนังบวมแดงบริเวณที่ถูกต่อย
อาการในระดับปานกลาง
- ผิวหนังบริเวณที่โดนผึ้งต่อยเป็นเป็นรอยแดงมาก
- อาการบวมของผิวหนังเริ่มขยายใหญ่ขึ้นภายใน 1-2 วัน หลังจากโดนผึ้งต่อย
อาการในระดับรุนแรง
- ผิวหนังบวมแดงมาก
- อาจมีลมพิษและคันผิวหนัง
- ผิวซีด
- หายใจลำบาก
- อาการบวมที่คอและลิ้น
- ชีพจรเต้นเร็วหรืออ่อนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
- วิงเวียนศีรษะ
- เป็นลม
อันตรายจากการโดนผึ้งต่อย
อันตรายจากการโดนผึ้งต่อยอาจขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพแต่ละบุคคล เนื่องจากบางคนอาจมีอาการแพ้พิษจากเหล็กในของผึ้ง ที่ส่งผลให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง อีกทั้งหากโดนผึ้งหลายตัวต่อย อาจทำให้ได้รับพิษจากเหล็กในของผึ้งมากเกินไป ส่งผลให้มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย ชัก เป็นลมหมดสติ อวัยวะภายในล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรเข้าพบคุณหมอทันทีเมื่อสังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก ผิวบวมแดงขนาดใหญ่ หรือเมื่อโดนผึ้งต่อย เพื่อนำเหล็กในที่ฝังอยู่บนผิวหนังและขจัดพิษออกได้อย่างทันท่วงที
การทดสอบภูมิแพ้พิษผึ้ง
การทดสอบเพื่อหาว่ามีความเสี่ยงต่อการแพ้พิษจากเหล็กในของผึ้ง อาจทำได้ดังนี้
- ทดสอบผิวหนัง โดยคุณหมอจะนำพิษผึ้งฉีดเข้าไปในผิวหนังบริเวณแขนหรือหลัง หากผิวหนังมีอาการบวม มีตุ่มขึ้นบริเวณที่ทดสอบ อาจเป็นได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะมีอาการแพ้พิษผึ้ง
- ตรวจเลือด คุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อนำไปทดสอบการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อพิษผึ้ง และวัดปริมาณแอนติบอดีที่ส่งผลให้เกิดอาการแพ้
โดนผึ้งต่อยควรทำอย่างไร
สิ่งที่ควรทำเมื่อโดนผึ้งต่อย มีดังนี้
ปฐมพยาบาลด้วยตัวเอง
- กำจัดเหล็กในที่ฝังอยู่บนผิวหนัง โดยใช้มุมบัตรแข็งขูดบริเวณที่โดนผึ้งต่อย เพื่อช่วยกำจัดเหล็กในหรืออาจใช้ลูกกุญแจบริเวณที่เป็นรู กดไปที่แผล แล้วใช้แหนบดึงเหล็กในออก
- ล้างแผลบริเวณที่โดนผึ้งต่อยด้วยสบู่และน้ำ
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือนำน้ำแข็งมาประคบบริเวณที่โดนผึ้งต่อยเป็นเวลา 10-20 นาที เพื่อลดอาการปวดและอาการบวม
- หลีกเลี่ยงการเกาหรือการสัมผัสกับบริเวณที่โดนผึ้งต่อย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดแผลพุพองได้
- ทาเบกกิ้งโซดา หรือครีมไฮโดรคอร์ติโซน 0.5% หรือ 1% หรืออาจรับประทานยาแก้ปวดจนกว่าจะหาย
การรักษาทางการแพทย์เมื่อโดนผึ้งต่อย
- ยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณที่โดนผึ้งต่อย และอาจช่วยลดไข้สำหรับผู้ที่มีไข้ร่วมด้วย
- ยาต้านฮีสทามีน หรือยาแก้แพ้ คือยาในรูปแบบรับประทาน ยาพ่นจมูก หรือยาสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้และอาการคัน เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ลอราทาดีน (Loratadine)
- ให้ออกซิเจน เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น สำหรับผู้ที่โดนผึ้งต่อยและมีอาการหายใจลำบาก
- วัคซีนโรคภูมิแพ้ โดยปกติแล้วควรได้รับการฉีดเป็นประจำทุก 2-3 ปี เพื่อช่วยป้องกันอาการแพ้พิษผึ้งในระดับรุนแรง
- ยาฆ่าเชื้อ สำหรับกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย
การป้องกันไม่ให้ โดนผึ้งต่อย
การป้องกันไม่ให้โดนผึ้งต่อย สามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรุนรานแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งและอยู่ให้ห่างจากรังผึ้ง หรือหากผึ้งทำรังใกล้แหล่งที่อยู่อาศัย ควรขอความช่วยเหลือจากบริษัทกำจัดแมลง
- ใช้ยาฆ่าแมลงที่มีสารดีอีอีที (Diethyltoluamide หรือ DEET) อย่างน้อย 50%
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม สบู่ แชมพู ที่มีกลิ่นแรงและมีกลิ่นหอมหวานเมื่อออกนอกบ้าน เพราะอาจดึงดูดผึ้งได้
- ปิดฝาภาชนะและถังขยะให้สนิท
- ปิดประตู หน้าต่าง หรือติดมุ้งลวด เพื่อป้องกันผึ้งเข้าบ้าน
- สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนัง และหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีสดใส เพราะอาจมีลักษณะคล้ายกับดอกไม้ที่ดึงดูดผึ้ง
- ระมัดระวังการตัดหญ้า ต้นไม้ ดอกไม้ เพราะอาจทำให้ผึ้งตื่นตกใจและคิดว่ากำลังรุกรานที่อยู่อาศัย ทำให้ผึ้งอาจเข้าโจมตีเพื่อป้องกันตัวได้
[embed-health-tool-heart-rate]