backup og meta

อีสุกอีใส สาเหตุ อาการ และการรักษา

อีสุกอีใส สาเหตุ อาการ และการรักษา

อีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ส่งผลให้เกิดผื่นคัน และตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก บนผิวหนังทั่วทั้งร่างกายซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่งและละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัส ดังนั้น หากสังเกตว่า มีไข้ รู้สึกอยากอาหารน้อยลง และเริ่มมีผื่นขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที ก่อนแพร่กระจายติดต่อไปยังบุคคลอื่น

คำจำกัดความ

อีสุกอีใส คืออะไร

อีสุกอีใส คือ โรคจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด เชื้อนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 10-20 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ก่อนจะค่อย ๆ ปรากฏอาการผื่นคันและตุ่มน้ำใสขนาดเล็กทั่วทั้งร่างกาย เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก แขน ขา และอาจมีอาการรุนแรงมาก โดยเฉพาะในทารก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เชื้อไวรัสวาริเซลลาสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางการหายใจหรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งและละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ ซึ่งอาจมาจากการไอ จาม หรือจากการพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ

อาการ

อาการของอีสุกอีใส

อาการของอีสุกอีใส มีดังนี้

  • มีตุ่มสีแดงหรือชมพูขึ้นตามลำตัว ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นแผลพุพอง ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด มีหลายระยะของผื่นบนผิวหนัง
  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • เจ็บคอ
  • ปวดเมื่อยร่างกาย และเหนื่อยล้า
  • รู้สึกเบื่ออาหาร
  • มีผื่น อาการคัน

หากสังเกตว่ามีอาการข้างต้น และมีผื่นแดงที่ลุกลามไปยังบริเวณดวงตา พร้อมกับมีอาการไอ วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดท้องรุนแรง อาเจียนบ่อยครั้ง และไข้สูงเกินกว่า 38.9 องศานานเกินกว่า 4 วัน ควรเข้าพบคุณหมอทันที

สาเหตุ

สาเหตุของอีสุกอีใส

สาเหตุของอีสุกอีใสเกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสวาริเซลลา ที่แพร่กระจายลอยอยู่ในอากาศ ผ่านทางการไอและจาม อีกทั้งยังอาจแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผื่นและแผลอีสุกอีใสโดยตรง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอีสุกอีใส

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นอีสุกอีใส มีดังนี้

  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากอาจมีระบบภูมิคุ้มกันที่พัฒนาไม่เต็มที่
  • การไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส
  • ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีเด็กอยู่มาก เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด รวมถึงโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง เอชไอวี/เอดส์ หรือการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยของอีสุกอีใส

คุณหมออาจวินิจฉัยจากลักษณะของผื่นที่ผู้ป่วยเป็น หรืออาจเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจอย่างละเอียดว่ากำลังเสี่ยงเป็นโรคอีสุกอีใสอยู่หรือไม่

การรักษาอีสุกอีใส

การรักษาของอีสุกอีใส มีดังต่อไปนี้

  • ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล สำหรับลดไข้และบรรเทาอาการปวดศีรษะ เจ็บปวดแผลบนผิวหนัง เหมาะกับสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุมากกว่า 2 เดือน
  • ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ควรรับประทานภายใน 24 ชั่วโมงแรก เพราะอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคอีสุกอีใสได้ หรืออาจรับประทานยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) หรือยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ซึ่งคุณหมออาจพิจารณาตามอาการและภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคลก่อนให้รับประทาน
  • ยาแก้แพ้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการคัน ซึ่งควรได้รับการอนุญาต จากคุณหมอก่อนรับประทาน
  • ประคบผิวหนัง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณผิวหนังที่มีอาการคันมาก ไม่ควรเกาผิวรุนแรงเพราะอาจทำให้เกิดแผล อีกทั้งยังเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอีสุกอีใส

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอีสุกอีใส อาจทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ตามช่วงวัย ดังนี้

  • ทารก ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส โดยครั้งที่ 1 เมื่ออายุ 12-15 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี หรือตามเกณฑ์ตารางการฉีดวัคซีนที่คุณหมอกำหนด
  • เด็ก ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน ควรเข้ารับการฉีดเมื่ออายุ อยู่ในช่วงอายุ 7-12 ปี ให้ครบ 2 โดส โดยห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน สำหรับเด็กที่อายุ 13 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีน 2 โดส แต่ละโดสห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์
  • ผู้ใหญ่ รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู พนักงานดูแลเด็ก และผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ควรได้รับวัคซีน 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4-8 สัปดาห์ สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และผู้ที่แพ้ยาปฏิชีวนะ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อให้คุณหมอประเมินว่าสามารถฉีดวัคซีนอีสุกอีใสได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัย

สำหรับผู้ที่เป็นอีสุกอีใสและอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย และควรหยุดเรียน หยุดทำงาน หากในบ้านมีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และสตรีตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ควรแยกตัวออกไปรักษาในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chickenpox. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chickenpox/symptoms-causes/syc-20351282. Accessed June 14, 2022 

โรคสุกใส (Chicken pox). https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1090. Accessed June 14, 2022 

Chickenpox. https://www.nhs.uk/conditions/chickenpox/. Accessed June 14, 2022 

About Chickenpox. https://www.cdc.gov/chickenpox/about/index.html. Accessed June 14, 2022

What is Chickenpox?. https://www.webmd.com/children/what-is-chickenpox. Accessed June 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวหนัง ลอก เกิดจากสาเหตุอะไร อาการแบบไหนที่เป็นอันตราย

วิธีดูแลผิวหนัง ให้ผิวแข็งแรง ดูสุขภาพดี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 19/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา