เชื้อราที่เท้า เรียกอีกอย่างว่า ฮ่องกงฟุต หรือ โรคน้ำกัดเท้า เป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนัง พบได้มากในบริเวณที่มีความอับชื้น และเหงื่อออกมาก โดยเฉพาะระหว่างนิ้วเท้า และอาจแพร่กระจายไปสู่บุคคลอื่นได้ผ่านการใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู รองเท้า พรมเช็ดเท้า
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
เชื้อราที่เท้า คืออะไร
เชื้อราที่เท้า คือ การติดเชื้อราที่ผิวหนัง ทำให้มีอาการคัน แผลเปื่อย และแสบผิว พบได้บ่อยในบริเวณที่อับชื้นหรือมีเหงื่อออกมาก เช่น ซอกนิ้วเท้า เล็บ ฝ่าเท้า อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้หากมีการสัมผัสกับเชื้อรา
อาการ
อาการเชื้อราที่เท้า
อาการเชื้อราที่เท้า มีดังนี้
- อาการคันที่บริเวณเท้า ซอกนิ้ว หรือฝ่าเท้า โดยเฉพาะหลังจากถอดถุงเท้าและรองเท้า
- ผิวหนังที่เท้าลอก แตก และเป็นสะเก็ด
- แสบผิวหนังที่เท้า และอาจเป็นแผลพุพอง
- ผิวหนังที่เท้าอักเสบ สังเกตได้จากสีผิวเปลี่ยนแปลงเป็นสีม่วงหรือสีแดง
ควรพบคุณหมอทันทีหากอาการเชื้อราที่เท้าไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังจากที่ใช้ยาต้านเชื้อรา หรือหากมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีหนอง เท้าบวม เป็นไข้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีการติดเชื้อราที่เท้าก็ควรเข้าพบคุณหมอเช่นกัน เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
สาเหตุ
สาเหตุของเชื้อราที่เท้า
เชื้อราที่เท้าเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดเดียวกันกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคกลาก โดยสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือจากการสัมผัสกับสิ่งรอบตัวที่ปนเปื้อนเชื้อรา เช่น พรมเช็ดเท้า ถุงเท้า รองเท้า ผ้าขนหนู
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของเชื้อราที่เท้า
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อราที่เท้า มีดังนี้
- เหงื่อออกบริเวณเท้ามากเกินไป
- การใส่รองเท้าที่ระบายอากาศไม่ดีเป็นประจำ
- การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าขนหนู รองเท้า ถุงเท้า เสื้อผ้า พรมเช็ดเท้า
- การเดินเท้าเปล่าในพื้นที่สาธารณะและบริเวณที่เปียกชื้น เช่น ขอบสระว่ายน้ำ ห้องซาวน่า ห้องอาบน้ำรวม
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยเชื้อราที่เท้า
สำหรับการวินิจฉัยเชื้อราที่เท้า คุณหมออาจเริ่มจากการตรวจดูอาการทางผิวหนัง ว่ามีสภาพผิวที่แห้งแตก หรือเป็นแผลพุพองหรือไม่ และอาจเก็บตัวอย่างผิวหนังด้วยการขูดผิวบริเวณที่มีอาการไปตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อราหรือไม่
การรักษาเชื้อราที่เท้า
วิธีการรักษาเชื้อราที่เท้า มีดังนี้
- โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) คือ ยาในรูปแบบครีม ที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อราที่เท้าและผิวหนังส่วนอื่น ๆ โดยช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ก่อนทายานี้ควรทำความสะอาดและเช็ดบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบให้แห้ง โดยปกติควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ
- อีโคนาโซล (Econazole) เป็นยาในรูปแบบครีมที่ใช้รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราหลายชนิด รวมถึงเชื้อราที่เท้า โดยทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ใช้ทาวันละ 1-2 ครั้ง หลังการใช้ยาหากมีอาการระคายเคือง ควรเข้าพบคุณหมอทันที
- ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) คือยาในรูปแบบครีม ใช้รักษาโรคผิวหนังที่ติดเชื้อรา โดยอาจช่วยการหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ใช้ทาวันละ 2 ครั้ง ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ผิวหนังแดง รู้สึกแสบร้อนผิว อาการคัน และระคายเคือง
- ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) คือยาในรูปแบบรับประทาน เหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อราที่เท้าระดับรุนแรง โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานพร้อมกับอาหารวันละ 1-2 ครั้ง และไม่ควรรับประทานยาลดกรดหรือเครื่องดื่มที่เป็นกรด เช่น น้ำอัดลม ก่อนหรือหลังรับประทานยา 1-2 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ไอทราโคนาโซล อาจส่งผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง วิงเวียนศีรษะได้
- เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) คือยาต้านเชื้อราในรูปแบบรับประทาน ที่อาจช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา เหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อราที่เท้าระดับรุนแรง โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานก่อนอาหารวันละ 1 ครั้ง ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องร่วง อาเจียน หากสังเกตว่ามีอาการสูญเสียการรับรู้กลิ่นและรสชาติ อาเจียนไม่หยุด ปัสสาวะสีเข้มขึ้น ควรพบคุณหมอทันที
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเชื้อราที่เท้า
การป้องกันเชื้อที่เท้า อาจทำได้ ดังนี้
- ล้างเท้าด้วยสบู่เป็นประจำและเช็ดเท้าให้แห้งสนิท
- สวมถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี ลดความอับชื้น และเลือกใส่รองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี
- สวมใส่รองเท้าในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องอาบน้ำรวม ห้องซาวน่า สระน้ำ
- ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ถุงเท้า รองเท้า ผ้าขนหนู
- ไม่ควรสวมถุงเท้าและรองเท้าซ้ำกันหลายวัน เพื่อป้องกันการสะสมของเหงื่อ ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อรา