เชื้อราในร่มผ้า หมายถึง การติดเชื้อราตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่ใต้ร่มผ้า เช่น ลำตัว แผ่นหลัง สะโพก อวัยวะเพศ เท้า โดยจะพบผื่นและอาการคันบริเวณที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม เชื้อราในร่มผ้ามักรักษาให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ และยังป้องกันได้ด้วยการเลี่ยงใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่แน่นหรืออับชื้น รวมถึงการไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจมีเชื้อราสะสมอยู่และทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้
[embed-health-tool-bmi]
เชื้อราในร่มผ้าคืออะไร
เชื้อราในร่มผ้าหมายถึงการติดเชื้อราตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่ใต้ร่มผ้า ไม่ว่าจะเป็นลำตัว เต้านม อวัยวะเพศ หรือเท้า ซึ่งมักทำให้เกิดผื่นขึ้นและมีอาการคัน
นอกจากนั้น เชื้อราในร่มผ้า อาจหมายถึงโรคที่เกิดจากเชื้อรา ดังต่อไปนี้
- กลาก เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) บริเวณลำตัว สะโพก หรือแขน เมื่อเป็นโรคนี้ จะพบผื่นแดงวงแหวนซึ่งมีขุย ขอบยก ร่วมกับมีอาการคัน
- สังคง เป็นการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์บริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา เพราะมักสวมใส่เสื้อผ้าที่ชุ่มเหงื่อเป็นเวลานาน ซึ่งเอื้อให้เชื้อราเติบโตได้ดี เมื่อเป็นโรคนี้ จะมีอาการคัน ผิวลอก และผื่นขึ้น บริเวณที่ติดเชื้อ
- น้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต เป็นการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์บริเวณเท้า ทำให้มีแผลพุพอง ผิวหนังแดงหรืออักเสบ เท้ามีกลิ่นเหม็น ผิวแห้งและลอกเป็นขุยหรือแตก รวมทั้งมีอาการคันเท้า โดยเฉพาะเมื่อถอดถุงเท้าออก ทั้งนี้ เชื้อราที่เท้า อาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ผ่านการสัมผัสบริเวณเท้าแล้วไปจับส่วนอื่น ๆ ของร่างกายต่อ
- เกลื้อน เกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนของมนุษย์ อาการของโรคนี้ ได้แก่ การพบผื่นวงกลมหรือวงแหวนสีออกขาวหรือสีเข้มกว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ ทั้งบริเวณที่อยู่ใต้ร่มผ้าอย่างหน้าอกหรือแผ่นหลัง รวมถึงบริเวณที่อยู่นอกร่มผ้าอย่างใบหน้าหรือต้นคอ นอกจากนี้ ผู้เป็นโรคเกลื้อนมักรู้สึกคันเมื่อเหงื่อออก และหากเอาเล็บขูดผิวหนังบริเวณที่คันผิวหนังจะลอกออกเป็นขุยได้ง่าย
เชื้อราในร่มผ้า เกิดจากอะไร
เชื้อราในร่มผ้ามีสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การสวมใส่เสื้อผ้า ชุดสำหรับเล่นกีฬา หรือชุดว่ายน้ำ ที่อับชื้นเป็นเวลานาน
- การสวมถุงเท้าและรองเท้าที่เปียกหรืออับชื้น
- การสวมใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่รัดแน่นเกินไปจนทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดี
- การมีภาวะเหงื่อออกมาก
- การอาศัยอยู่ในเขตร้อน
- การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เพราะอาจทำให้ข้อพับหรือขาหนีบอับชื้นได้ง่าย นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เต้านมใหญ่ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อราบริเวณใต้ราวนมมากกว่าผู้หญิงที่เต้านมเล็ก
- การสัมผัสกับบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อรา
- การใช้สิ่งของที่มีเชื้อราสะสมอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน พรม
- การเดินเท้าเปล่าในพื้นที่ชื้นแฉะ เช่น ห้องน้ำ ห้องล็อคเกอร์ ห้องซาวน่า ตลาดสด
เชื้อราในร่มผ้า ป้องกันได้อย่างไร
เชื้อราในร่มผ้าสามารถรักษาได้ด้วยการทายาต้านเชื้อราในรูปแบบครีม เจล หรือสเปรย์ นอกจากนั้น อาจป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- อาบน้ำทันทีหลังออกกำลังกายเสร็จ และเช็ดตัวให้แห้งหลังอาบน้ำเสร็จ
- ไม่สวมเสื้อผ้าชุ่มเหงื่อหรือชุดว่ายน้ำที่เปียกเป็นเวลานาน
- ไม่สวมชั้นในที่รัดแน่นเกินไป และเปลี่ยนชั้นในอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และเปลี่ยนถุงเท้าวันละ 1 ครั้ง
- เลือกสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ซึ่งทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย
- เลือกสวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น รองเท้าแตะ รองเท้าสาน
- หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแสงแดดหรือความร้อน เพื่อลดอาการเหงื่อออกมาก
- สวมรองเท้าแตะหรือรองเท้ากันน้ำ เมื่อไปเดินบริเวณสระว่ายน้ำหรือห้องล็อกเกอร์ หรือในพื้นที่ชื้นแฉะ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น