ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส (Dyshidrotic Eczema) หรือ โรคตุ่มน้ำอักเสบเป็นความผิดปกติของผิวหนังที่ก่อให้เกิดอาการคัน มีตุ่มพอง หรือตุ่มใส ในบริเวณปลายนิ้ว ง่ามนิ้ว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บหนาขึ้น สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน หรือการบำบัดด้วยแสง ร่วมกับการรักษาสุขอนามัยผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
[embed-health-tool-bmr]
คำจำกัดความ
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส คืออะไร
โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส บางครั้งเรียกว่า โรคตุ่มน้ำอักเสบ เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดตุ่มพอง หรือตุ่มน้ำเล็ก ๆ ที่ชั้นผิวหนังในระดับลึกที่บริเวณมือ นิ้วมือ ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า เท้า และฝ่าเท้า
ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใสมักเป็น ๆ หาย ๆ โดยตุ่มอาจขึ้นนานถึง 3 สัปดาห์ เมื่อตุ่มใสนี้แห้งจะทิ้งรอยไว้บนผิวหนัง และบางครั้ง ตุ่มใสอาจขึ้นซ้ำก่อนที่รอยเดิมจะหาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หากอาการไม่ได้ร้ายแรง ก็มักจะหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาหรือเข้ารับการรักษาเฉพาะใด ๆ
โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส พบได้บ่อยแค่ไหน
โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ และผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชายสองเท่า แต่คุณก็สามารถลดโอกาสในการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใสได้ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงของคุณ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของ ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส
อาการที่พบได้ทั่วไปของ โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส ได้แก่
- มี ผื่นคัน ตุ่มเล็กๆ ใสๆ
- มีตุ่มใสขึ้นที่ปลายนิ้ว ง่ามนิ้ว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
- ตุ่มใสมักขึ้นเป็นกระจุก
- ผิวหนังบริเวณนั้นแดงขึ้น แห้งขึ้น หรือแตก
- ผิวหนังบริเวณนั้นหนาขึ้น
- ผิวหนังรอบตุ่มใสชุ่มเหงื่อ
- เล็บหนาขึ้นและเปลี่ยนสี
ยิ่งคุณเกาบ่อย ๆ ผิวหนังบริเวณที่มีอาการก็จะยิ่งหนาขึ้น และอาจทำให้ตุ่มใสเม็ดใหญ่ หรือตุ่มใสที่ขึ้นอยู่เป็นกระจุกแตก จนนำไปสู่การติดเชื้อได้ โดยคุณสามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- อาการเจ็บ
- อาการบวม
- ผิวหนังบริเวณนั้นแตกออก จนเห็นเป็นผิวหนังแดง ๆ แฉะ ๆ ตกสะเก็ด
- ตุ่มที่เกิดขึ้นกลายเป็นตุ่มหนอง
โดยปกติแล้ว โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส จะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ผิวหนังชั้นลึกอาจมีอาการแดงและกดเจ็บต่อไปอีกสักพัก หากอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใสของคุณรุนแรง จนเกิดตุ่มใสที่ฝ่าเท้า ก็อาจทำให้เดินลำบากขึ้น หรือหากมีตุ่มใสขึ้นที่มือรุนแรง ก็อาจทำให้คุณทำกิจวัตรประจำวัน เช่น พิมพ์งาน ล้างจาน จับพวงมาลัยรถยนต์ ทำอาหาร ได้ลำบากขึ้นด้วย
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากอาการของ โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส แย่ลง หรือไม่หายไปเองภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ หรือคุณพบว่าเกิดการติดเชื้อ ควรเข้ารับการรักษาทันที
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส
ในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส เกิดจากสาเหตุใด แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังอักเสบอีกหนึ่งชนิดที่เรียกว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema) เพราะเมื่อประสบกับตัวกระตุ้นอาการแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ ก็มักจะทำให้เกิดอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใสด้วย
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส
ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการเกิด โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส ได้แก่
- ความเครียด ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใสได้ทั้งสิ้น
- การสัมผัสโลหะบางชนิด เช่น นิกเกิล โคบอลต์ โครเมียม ซึ่งอาจพบได้จากการทำงาน หรือจากเครื่องประดับ เป็นต้น
- เป็นคนเหงื่อออกมือและเท้ามาก
- อากาศร้อนชื้น
- ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- เป็นภูมิแพ้ เช่น ภูมิแพ้ตามฤดูกาล ภูมิแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้
- กำลังรักษาโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ด้วยวิธีรักษาโรคบางชนิด
- ผิวหนังไวต่อการระคายเคือง หรือไวต่อสิ่งรบกวนเป็นพิเศษ (Sensitive skin)
- เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น โรคผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
การไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น คุณควรปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส
ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะวินิจฉัย โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส ด้วยการตรวจร่างกาย และคุณไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่บางครั้ง แพทย์อาจต้องให้คุณเข้ารับการตรวจบางอย่างเพื่อหาว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากปัญหาผิวหนังอื่น ๆ หรือไม่ เช่น การขูดเอาเนื้อเยื่อผิวหนังตรงบริเวณผื่นไปตรวจหาเชื้อราที่อาจเป็นสาเหตุของโรค เช่น โรคน้ำกัดเท้า หรือที่เรียกว่า “การขูดตรวจเชื้อรา” หรือคุณอาจต้องเข้ารับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง เพื่อหาว่าผิวหนังของคุณแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดหรือไม่ หรือไวต่อสิ่งรบกวนใดเป็นพิเศษหรือเปล่า
การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส
การรักษาโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใสขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรงของอาการนั้น ๆ โดยวิธีรักษาที่นิยมใช้ ได้แก่
การรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกในกลุ่มที่มีฤทธิ์แรง (High potency) อาจช่วยเร่งให้ตุ่มใสหายเร็วขึ้นได้ แนะนำให้คุณทายาแล้วใช้พลาสติกแรป หรือฟิล์มยืดถนอมอาหารพันไว้ หรืออาจประคบบริเวณนั้นด้วยผ้าอุ่น เพื่อให้ตัวยาซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น
ในกรณีที่อาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งให้คุณรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ด้วย เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) แต่การใช้งานควรอยู่ใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะการใช้ยานานเกินไป หรือใช้ในขนาดยาที่มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้
การรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันชนิดทาภายนอก
ยากดภูมิคุ้มกันชนิดทาภายนอก เช่น ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) อาจเป็นตัวเลือกในการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์มากเกินไป แต่ยาชนิดนี้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้
การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน
โบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin) เป็นสารพิษที่สกัดมาจากแบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum) นิยมใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึง โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส ที่มีอาการรุนแรงด้วย
การรักษาด้วยแสง (Phototherapy)
หากรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการรักษาด้วยแสง โดยแพทย์จะใช้แสงอัลตราไวโอเลต (แสงยูวี) หรือแสงอาทิตย์เทียม ร่วมกับการให้คุณรับประทานยา หรือใช้ยาทาที่มำให้การรักษาด้วยแสงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับโรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับ โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส ได้ดีขึ้น
- ประคบเย็น ครั้งละ 15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการคัน
- ลดอาการคันด้วยยาต้านฮิสตามีน หรือยาแก้แพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ยาลอราทาดีน (Loratadine)
- ทาครีมบำรุงผิว เพื่อบรรเทาอาการผิวแห้ง และลดอาการคัน
- หลีกเลี่ยงกับสิ่งกระตุ้นอาการ เช่น เครื่องประดับที่มีนิกเกิล ปูซีเมนต์
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ