backup og meta

ท่าบริหารนิ้วมือ 7 ท่าง่าย ๆ ช่วยบรรเทาปวด แถมมือและนิ้วยังแข็งแรงขึ้นด้วย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/09/2020

    ท่าบริหารนิ้วมือ 7 ท่าง่าย ๆ ช่วยบรรเทาปวด แถมมือและนิ้วยังแข็งแรงขึ้นด้วย

    การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ต้องเคาะแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์แทบจะทั้งวัน รวมถึงการจิ้มจอโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตกันอย่างไม่หยุดหย่อน ส่งผลให้นิ้วมือของเราทำงานหนักแทบจะไม่ได้พักกันเลย และเมื่อเป็นแบบนี้บ่อย ๆ เข้า ก็ย่อมทำให้หลายคนเกิดปัญหาปวดเมื่อยนิ้วมือ นิ้วล็อค ขยับข้อมือไม่ค่อยจะได้ ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้เกิดปัญหาปวดนิ้ว ปวดมือเรื้อรังได้ วันนี้ Hello คุณหมอ เลยมี 7 ท่าบริหารนิ้วมือ ง่าย ๆ มาฝากทุกคน รับรองว่าทำแล้ว อาการปวดจะทุเลา แถมยังช่วยให้บริเวณฝ่ามือ ข้อมือ และนิ้วมือของคุณแข็งแรงขึ้นด้วย

    7 ท่าบริหารนิ้วมือ ง่าย ๆ

    ก่อนจะไปเริ่มทำท่าบริหารนิ้วมือ หากคุณรู้สึกปวดนิ้วมาก หรือขยับนิ้วไม่ไหว ลองวอร์มอัพนิ้วด้วยการแช่มือและนิ้วในน้ำอุ่น หรือประคบด้วยแผ่นความร้อน หรือผ้าชุบน้ำอุ่น อย่างน้อย 5-10 นาทีก่อนออกกำลังกาย วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถขยับนิ้วมือได้ดีขึ้น

    1. ท่ายืดกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ (กล้ามเนื้อในการขยับนิ้ว)

    วิธีทำ

    1. แบมือ กางนิ้ว วางมือแนบบนพื้นราบ เช่น บนโต๊ะ
    2. ใช้นิ้วมืออีกข้างดึงนิ้วแต่ละนิ้วขึ้นช้า ๆ ให้ได้สูงที่สุด โดยที่ไม่รู้สึกตึงหรือเจ็บ และนิ้วอื่นยังติดอยู่กับพื้น
    3. ค้างไว้ 2-3 วินาที แล้วค่อย ๆ ปล่อยนิ้วลง
    4. ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง
    5. ทำท่านี้วันละ 3 เซ็ต

    2. ท่ายกนิ้ว

    วิธีทำ

    1. แบมือ กางนิ้ว วางมือแนบบนพื้นราบ เช่น บนโต๊ะ
    2. ยกนิ้วแต่ละนิ้วขึ้นช้า ๆ ให้ได้สูงที่สุด โดยที่ไม่รู้สึกตึงหรือเจ็บ และนิ้วอื่นยังติดอยู่กับพื้น
    3. เอานิ้วลงช้า ๆ
    4. ทำให้ครบทั้ง 5 นิ้ว
    5. ยกนิ้วทั้ง 5 นิ้วขึ้นพร้อมกัน ค้างไว้ 2-3 วินาที
    6. เอานิ้วลงช้า ๆ
    7. ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง
    8. ทำซ้ำ 8-12 ครั้ง

    3. ท่าบีบมือ

    วิธีทำ

    1. วางสิ่งของลักษณะเป็นทรงกลม ขนาดพอดีมือ เช่น ลูกปิงปอง ไว้กลางฝ่ามือ
    2. บีบให้แน่น ๆ แล้วค้างไว้ 2-3 วินาที
    3. คลายมือช้า ๆ และกางนิ้วมือให้สุด
    4. ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
    5. ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง
    6. ทำท่านี้อย่างน้อยวันละ 2 เซ็ต

    4. ท่าเหยียดนิ้ว

    วิธีทำ

    1. จดปลายนิ้วทั้งห้าเข้าด้วยกัน
    2. ใช้หนังยาง หรือยางรัดผม รัดนิ้วทั้งห้าไว้ด้วยกัน
    3. พยายามเหยียดนิ้วแต่ละนิ้วออกให้ได้มากที่สุด และจดนิ้วให้ชิดกันที่สุด
    4. ทำซ้ำ 10 ครั้ง
    5. ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง
    6. ทำท่านี้วันละ 3 เซ็ต

    5. ท่ากำหมัด

    วิธีทำ

    1. กำหมัดเบา ๆ โดยให้นิ้วโป้งอยู่ข้างนอก พาดทับนิ้วอื่น ๆ
    2. ค้างไว้ 30-60 วินาที
    3. คลายมือช้า ๆ จากนั้นกางนิ้วและเหยียดนิ้วให้สุด
    4. ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง
    5. ทำซ้ำอย่างน้อย 4 เซ็ต

    6. ท่าหยิบสิ่งของ

    วิธีทำ

    1. วางสิ่งของขนาดเล็ก ลักษณะแบนราบ เช่น เหรียญ กระดุม กิ๊บติดผม ไว้บนพื้นราบ เช่น บนโต๊ะ
    2. หยิบของแต่ละชิ้นขึ้น โดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง หรือนิ้วก้อย ไล่ไปตามลำดับ
    3. ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง
    4. ทำท่านี้อย่างน้อยวันละ 5 นาที

    7. ท่ายืดเส้นเอ็นนิ้ว

    วิธีทำ

    1. แบมือ แล้วกางนิ้วให้ได้กว้างที่สุด
    2. งอนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ให้นิ้วแตะฝ่ามือได้ใกล้ข้อมือมากที่สุด
    3. ค่อย ๆ คลายนิ้วมือ กลับสู่ท่าเริ่มต้น
    4. งอนิ้วทีละนิ้ว เริ่มจากนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ตามลำดับ ให้ปลายนิ้วแตะปลายนิ้วโป้ง
    5. งอนิ้วโป้งให้แตะฝ่ามือบริเวณนิ้วก้อย
    6. ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง
    7. ทำท่านี้อย่างน้อยวันละ 3 เซ็ต

    ประโยชน์ของ การบริหารนิ้วมือ

    เมื่อคุณทำท่าบริหารนิ้วมือที่เรานำมาฝากเป็นประจำ ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็นบริเวณนิ้วมือ รวมถึงฝ่ามือและข้อมือได้คลายความแข็งตึง และสามารถยืดหยุ่นได้ดีขึ้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ทำให้บริเวณดังกล่าวแข็งแรงขึ้นนั่นเอง ทำแล้วไม่ใช่แค่ช่วยให้หายปวดเมื่อยนิ้วมือ แต่ยังอาจช่วยป้องกันอาการปวดเมื่อยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย

    หากคุณบริหารนิ้วมือด้วยท่าที่เรานำมาฝากนี้เป็นประจำ อาการปวดนิ้ว นิ้วล็อคของคุณจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ หรือนานสุดไม่เกิน 6 เดือน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงภายในเวลาข้างต้น แนะนำให้รีบไปหาคุณหมอทันที เพราะอาการคุณอาจรุนแรงจนต้องรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา