backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ผดขึ้นหน้า อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ผดขึ้นหน้า อาการ สาเหตุ  และวิธีรักษา

ผดขึ้นหน้า คือภาวะผิวหนังอักเสบที่เกิดตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นบนใบหน้า มีสาเหตุจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ส่วนใหญ่มักเรียกว่า ผดร้อน เพราะเมื่อสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เหงื่อออกมากจนเกิดการอุดตันได้ ทั้งนี้ ผดขึ้นหน้าสามารถรักษาได้ด้วยการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธี

คำจำกัดความ

ผดขึ้นหน้า คืออะไร

ผดขึ้นหน้า เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังบริเวณใบหน้า ทำให้เหงื่อไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ จนเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่เรียกว่าผด มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • สภาพอาการร้อนชื้น อบอ้าว ทำให้เหงื่อออกมากจนต่อมเหงื่ออุดตันได้
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งทำให้เหงื่อออกมากกว่าปกติ
  • ความร้อนที่มากเกินไป (Overheating) ทั้งจากการห่มผ้าเป็นเวลานาน ๆ หรือการใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไป
  • ต่อมเหงื่อที่ยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในกรณีของทารก ซึ่งทำให้เหงื่ออุดตันได้ง่ายทำให้ผดขึ้นหน้าหรือเกิดผดร้อนกับทารก ซึ่งสามารถเกิดได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอด

อาการ

อาการ ผดขึ้นหน้า

เมื่อเป็นผดขึ้นหน้า หรือผดร้อน จะมีเม็ดผดซึ่งเป็นตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นอยู่บนใบหน้า หรืออาจขึ้นตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น คอ หัวไหล่ หน้าอก รักแร้ ข้อศอก ขาหนีบ

นอกจากนี้ ผดขึ้นหน้ายังแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะของอาการที่พบ ดังนี้ (มักพบในทารก)

  • ผดชนิดอ่อน หรือผดร้อนชนิดตุ่มน้ำใส (Miliaria Crystallina) เป็นผดร้อนในระดับไม่รุนแรง อาการที่พบคือเม็ดผดมักมีของเหลวอยู่ข้างใน ไม่อักเสบแต่เม็ดผดจะแตกง่ายเมื่อเอามือไปลูบหรือเกา
  • ผดผื่นชนิดตุ่มแดง หรือ ผดร้อน (Miliaria Rubra) เกิดจากปริมาณเหงื่อที่มีจำนวนมากเกินไปแล้วไม่ถูกขับออกจากร่างกาย ไหลเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้ ผิวหนังอักเสบจนเกิดเป็นตุ่มสีแดง และมีอาการคันร่วมด้วย โดยผดลักษณะนี้มักยุบตัวและหายได้ภายในวันเดียว หรือเมื่ออุณหภูมิรอบ ๆ เย็นลง
  • ผดร้อนอักเสบ (Miliaria Pustulosa) หมายถึงผดผื่นชนิดตุ่มแดงหรือผดร้อนเกิดการอักเสบ อาจจะติดเชื้อชนิดไม่รุนแรงทำให้มีอาการกลัดหนองร่วมด้วย
  • ผดร้อนเรื้อรัง (Miliaria Profunda) เป็นผดร้อนที่พบได้ไม่บ่อยเท่าแบบอื่น เกิดขึ้นเมื่อเหงื่อไม่ถูกขับออกจากร่างกายแล้วไหลเข้าไปยังผิวหนังชั้นหนังแท้ทำให้เกิดการอุดตันในชั้นหนังแท้ เกิดเป็นตุ่มนูนสีเดียวกับผิวหนัง มีลักษณะแข็งเป็นไต พบได้น้อยมาก แต่หากมีผดชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หรือเวียนศีรษะได้ในบางครั้งเพราะเหงื่อไปอุดตันรูขุมขนทำให้ร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกได้

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

โดยปกติ เมื่อผดขึ้นหน้า ไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอ เนื่องจากเป็นอาการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผิวหนัง และมักหายเองได้

อย่างไรก็ตาม หากเม็ดผดอักเสบจนเกิดอาการกลัดหนอง หรือเกิดร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษา

  • อาการไข้
  • บริเวณที่ผดขึ้นมีอาการอักเสบ บวม แดง หรือรู้สึกเจ็บปวด
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ
  • การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยอาการผดขึ้นหน้า

    เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะวินิจฉัยอาการผดขึ้นหน้าด้วยตาเปล่า และอาจซักประวัติโรคประจำตัวหรืออาการแพ้ต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะผิว และคำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันผดขึ้นหน้า

    การรักษาผดขึ้นหน้า

    ผดขึ้นหน้ารวมถึงผดร้อนบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย รักษาได้ด้วยการใช้ยาสำหรับทาภายนอก ดังนี้

    • คาลาไมน์ (Calamine) ในรูปแบบโลชั่น จะช่วยลดอาการคันบริเวณที่ผดขึ้น ซึ่งควรทาวันละ 3-4 ครั้งต่อเนื่องจนกว่าอาการผดขึ้นหน้าหรือผดร้อนจะค่อย ๆ หายไป
    • สเตียรอยด์ (Steroid) ในรูปแบบของครีม ใช้ทาเพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนัง โดยปกติมักใช้ในกรณีผิวหนังอักเสบรุนแรง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผดขึ้นหน้า

    เมื่อผดขึ้นหน้า สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ไม่เกาบริเวณที่ผดขึ้น เพราะอาจเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราบนผิวหนังได้
    • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง พยายามหลบแดดให้มากที่สุด หรือพยายามอยู่ในสถานที่ซึ่งอากาศเย็นหรือมีลมพัดถ่ายเท เนื่องจากอุณหภูมิโดยรอบที่เย็นลง ทำให้เม็ดผดยุบได้เร็วขึ้น
    • ในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง และไม่สามารถหลบเข้าไปอยู่ในที่เย็นหรือมีร่มเงา อาจใช้พัดหรือพัดลมพกพาเพื่อบรรเทาความร้อนและป้องกันผดขึ้นหน้ามากกว่าเดิม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา