backup og meta

รองเท้ากัด สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 04/12/2023

    รองเท้ากัด สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

    รองเท้ากัด เป็นการอักเสบของผิวหนังที่ทำให้เกิดแผลพุพอง ซึ่งเกิดจากแรงกดและการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับรองเท้า ทำให้มีอาการเจ็บปวด หรือแสบบริเวณแผล ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรรู้วิธีรักษาและวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงบาดแผลติดเชื้อ

    รองเท้ากัด เกิดจากอะไร

    รองเท้ากัด ทำให้เกิดแผลพุพองที่เกิดจากแรงเสียดสีและแรงกด เมื่อผิวหนังสัมผัสกับรองเท้าในระหว่างเดิน แรงเสียดสีนั้นอาจส่งผลให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกแยกชั้น และมีของเหลวสะสมภายใน กลายเป็นตุ่มพอง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงขึ้นหากเกิดการเสียดสีรุนแรงหรือผิวหนังมีความชื้น นอกจากนี้ปัญหารองเท้ากัดจนเป็นแผลพุพองอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีก ดังนี้

  • ความร้อน ภูมิอากาศเขตร้อนอาจทำให้เหงื่อออกได้ง่าย ส่งผลทำให้ผิวหนังเกิดความชื้นและเกิดแผลจากแรงเสียดสีได้ง่ายขึ้น
  • เหงื่อออกมากเกินไป ส่งผลทำให้ผิวหนังชื้นและอาจเกิดแผลจากแรงเสียดสีได้ง่ายขึ้น
  • รองเท้าคับ หรือรองเท้าใหม่ที่มีพื้นผิวหนาและแข็ง อาจเพิ่มแรงเสียดสีกับผิวหนัง ส่งผลให้เกิดแผลพุพองได้
  • ไม่ใส่ถุงเท้า หรือถุงเท้าไม่ดูดซับความชื้น ทำให้ไม่สามารถปกป้องผิวจากความชื้นและการเสียดสีภายในรองเท้าได้
  • โรคบางชนิดที่ทำให้ผิวหนังบางกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดแผลจากแรงเสียดสีได้ง่าย เช่น โรคดักแด้  กลาก อาการแพ้ และปัญหาผิวหนังบางเพราะสัมผัสกับแสงแดดมากเกินไป
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจทำให้ผิวหนังบางลง
  • การรักษาแผลจากรองเท้ากัด

    ส่วนใหญ่แผลพุพองที่เกิดจากรองเท้ากัด จะหายเองตามธรรมชาติหากไม่เกิดการเสียดสีซ้ำอีก ทั้งนี้ ไม่ควรเจาะตุ่มพองออกด้วยตัวเอง เนื่องจากตุ่มพองเป็นวิธีป้องกันตามธรรมชาติของร่างกาย ช่วยลดแรงกดทับและช่วยปกป้องเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราไม่ให้เข้าสู่บาดแผลได้

    สำหรับการรักษาเมื่อเกิดตุ่มพองจากรองเท้ากัด มีดังนี้

  • ล้างทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ตุ่มพองด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด จากนั้นซับให้แห้งและปิดแผลด้วยผ้าก๊อซแบบหลวม ๆ
  • ประคบน้ำแข็งบริเวณตุ่มพอง จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าพันแผลแบบหลวม ๆ
  • ดูแลให้ผิวหนังบริเวณตุ่มพองแห้งที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าที่ปิดทับแผลหรือรัดแน่นบริเวณแผล เพื่อลดการกดทับและอับชื้น
  • ยกเท้าโดยพาดไว้บนเก้าอี้หรือหมอนเพื่อลดการไหลเวียนของเลือดที่บริเวณตุ่มพอง เพื่อลดการอักเสบ
  • ใช้ครีมปฏิชีวนะหรือขี้ผึ้งทาบริเวณตุ่มพองและผิวรอบข้าง
  • หากตุ่มพองอักเสบอย่างรุนแรง หรือเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีม่วง อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาในขั้นต่อไป

    การป้องกันรองเท้ากัด

    สามารถป้องกันการอักเสบของผิวหนังและการเกิดตุ่มพองได้ ดังนี้

    • สวมรองเท้าให้กระชับพอดี ไม่คับแน่นจนเกินไป และหากซื้อรองเท้ามาใหม่ให้สวมรองเท้าในเวลาสั้น ๆ จนกว่ารองเท้าจะนิ่มและใส่สบายขึ้น
    • ใส่ถุงเท้าทุกครั้งเมื่อสวมรองเท้าหุ้มส้น หรือปิดเท้า เพื่อช่วยดูดซับเหงื่อและลดแรงเสียดสี
    • หากมีเหงื่อออกมากให้โรยแป้งฝุ่นลงในถุงเท้าหรือรองเท้าเพื่อดูดซับความชื้น
    • เสริมฟองน้ำหรือแผ่นกันรองเท้ากัด เพื่อป้องกันการเสียดสี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 04/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา