Folliculitis คือ รูขุมขนอักเสบซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพผิวที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การแพ้ครีม หรือรูขุมขนระคายเคืองจากการโกนขน โดยอาจสังเกตได้จากตุ่มเล็ก ๆ บนผิวหนัง บางคนอาจมีอาการคันรุนแรง หากไม่ทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น รอยแผลเป็น การติดเชื้อซ้ำ ๆ บ่อยครั้ง นอกจากนี้ หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ตุ่มขึ้นบนผิวหนังกระจายเป็นวงกว้าง มีไข้ อาการที่เป็นอยู่แย่ลง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาทันที
[embed-health-tool-bmi]
Folliculitis คืออะไร
Folliculitis คือ ปัญหาผิวที่เรียกว่า รูขุมขนอักเสบ โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราที่ส่งผลกระทบต่อรูขุมขน ทำให้เกิดการระคายเคืองนำไปสู่การอักเสบ
นอกจากนี้ ปัญหารูขุมขนอักเสบอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- รูขุมขนอักเสบจากแบคทีเรีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง
- รูขุมขนอักเสบที่ก่อให้เกิดผื่นจากอ่างน้ำร้อน (Pseudomonas folliculitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) พบได้มากในอ่างน้ำร้อน และสระน้ำอุ่นที่มีปริมาณของคลอรีนและค่าความเป็นกรด-ด่างไม่สมดุล
- รูขุมขนอักเสบจากมีดโกน (Pseudofolliculitis barbae) หรือเรียกอีกอย่างว่าขนคุด ที่เกิดจากพฤติกรรมการโกนขนหรือการแว็กซ์ขนที่ส่งผลให้รูขุมขนระคายเคือง นำไปสู่การอักเสบ โดยสังเกตได้จากตุ่มแดงเล็ก ๆ บนผิวหนัง
- รูขุมขนอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (Gram-negative folliculitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ที่ก่อให้เกิดตุ่มหนองรอบปากและจมูก พบได้มากในผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิว
- รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Pityrosporum Folliculitis) ที่อาจส่งผลให้เกิดผื่นคัน สิวขึ้น หรือมีตุ่มหนอง พบได้มากบริเวณหลังและหน้าอก
- รูขุมขนอักเสบที่ทำให้เกิดตุ่มหนอง (Eosinophilic folliculitis) อาจทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรงเป็นหย่อม ๆ และก่อให้เกิดเป็นตุ่มหนอง มักพบได้มากในผู้ติดเชื้อเอชไอวี
อาการของ Folliculitis คืออะไร
อาการของ Folliculitis คือ อาการดังต่อไปนี้
- ตุ่มเล็ก ๆ หรือสิวขึ้นบริเวณรูขุมขน
- ตุ่มหนอง ที่อาจก่อให้เกิดแผลพุพองเมื่อแตกออก
- ผิวไหม้
- อาการคันและรู้สึกเจ็บเมื่อถูกเสียดสี
ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว หากสังเกตว่ามีตุ่มขึ้นบนผิวหนังและแพร่กระจายในวงกว้าง มีอาการแย่ลงหลังจากได้รับการรักษา 1-2 สัปดาห์ รวมถึงมีไข้และหนาวสั่น
การรักษา Folliculitis
การรักษา Folliculitis อาจทำได้ดังนี้
การรักษารูขุมขนอักเสบด้วยเทคนิคทางการแพทย์
- ยาปฏิชีวนะ ที่มีในรูปแบบเจลและโลชั่น เหมาะสำหรับผู้ติดเชื้อแบคทีเรียในระดับไม่รุนแรง ใช้เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและบรรเทาอาการติดเชื้อ สำหรับยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานอาจเหมาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อรุนแรงและติดเชื้อซ้ำบ่อยครั้ง แต่ไม่แนะนำให้รับประทานเป็นประจำ
- ยาต้านเชื้อรา ที่มีในรูปแบบครีม เหมาะสำหรับผู้ที่มีรูขุมขนอักเสบจากการติดเชื้อรา ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- ยาบรรเทาอาการอักเสบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรูขุมขนอักเสบในระดับไม่รุนแรง เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันผิวหนัง สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีรูขุมขนอักเสบและมีอาการคัน คุณหมออาจรักษาด้วยยาต้านไวรัส
- การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นตุ่มหนองขนาดใหญ่ หรือฝี โดยคุณหมอจะทำการกรีดเพื่อระบายหนองออก ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- เลเซอร์กำจัดขน สำหรับผู้ที่มีรูขุมขนอักเสบจากการโกนขนที่ก่อให้เกิดขนคุด คุณหมออาจแนะนำวิธีการกำจัดขนด้วยเลเซอร์แทนการโกนและแว็กซ์ขน
การรักษารูขุมขนอักเสบด้วยตัวเอง
- ประคบอุ่น เหมาะสำหรับผู้ที่มีรูขุมขนอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระดับไม่รุนแรง โดยนำผ้าขนหนูสะอาดชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ ผสมกับน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ และประคบบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เป็นเวลา 15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการคันระคายเคือง และอาจช่วยระบายหนองในตุ่ม
- ทำความสะอาดผิวบริเวณที่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)
- ใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิว เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อช่วยรักษาอาการผิวหนังอักเสบ และลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการอาการปวดบวมและอาการแพ้ ที่หาซื้อได้ตามร้ายขายยา โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์
วิธีป้องกัน Folliculitis
วิธีป้องกันรูขุมขนอักเสบ มีดังนี้
- ทำความสะอาดผิวอย่างสม่ำเสมอ และควรใช้ผ้าขนหนูสะอาดซับน้ำให้แห้ง ไม่ควรถูหรือเช็ดผิวอย่างรุนแรงเพราะอาจทำให้รูขุมขนระคายเคือง และหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าขนหนูร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ทำความสะอาดของใช้ที่สัมผัสกับผิวหนังโดยตรงเป็นประจำ เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าขนหนู ผ้าห่ม เสื้อผ้า เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดรูขุมขนอักเสบ
- ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น เพื่อช่วยระบายอากาศและเหงื่อ และช่วยลดความเสี่ยงการอุดตันในรูขุมขนที่อาจทำให้รูขุมขนอักเสบ อีกทั้งยังอาจช่วยป้องกันการเสียดสีกับผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการโกนขนและแว็กซ์ขน หรือโกนขนให้ถูกวิธีด้วยการใช้สบู่หรือโฟมสำหรับโกนขน เพื่อช่วยลดการเสียดสีของใบมีดกับผิวหนัง สำหรับผู้ที่แว็กซ์ขนควรเลือกใช้แว็กซ์ที่เหมาะกับผิวในบริเวณที่ต้องการกำจัดขน
- เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้เหมาะกับสภาพผิว ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเพิ่มการอุดตันของรูขุมขน รวมถึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ผิวหนังระคายเคืองและทำให้รูขุมขนอักเสบ