backup og meta

Scleroderma คืออะไร มีอาการและการรักษาอย่างไร

Scleroderma คืออะไร มีอาการและการรักษาอย่างไร

Scleroderma คือ คำศัพท์ที่ใช้เรียก โรคหนังแข็ง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ยากและเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยจะส่งผลให้ผิวหนังแข็งตัวและอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนั้น หากสังเกตว่ามีผิวหนังตามส่วนต่าง ๆ แข็งตัว ปลายมือและเท้าเปลี่ยนสีเมื่อเจออากาศเย็น รับประทานอาหารลำบากและหายใจถี่ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว

[embed-health-tool-bmi]

Scleroderma คืออะไร

Scleroderma  คือ โรคหนังแข็ง ที่เป็นกลุ่มโรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังตึงกว่าปกติ ไม่มีความยืดหยุ่น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผิวหนังแล้วยังอาจเสี่ยงการเกิดปัญหาในหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร ไต ปอด หัวใจ ฟันและข้อต่อร่วมด้วย  

สาเหตุของ Scleroderma คืออะไร

อาจไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคหนังแข็ง แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเองโดยการโจมตีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ชั้นผิวหนังและส่งผลให้มีการผลิตคอลลาเจนมากเกินไป จึงก่อให้เกิดพังผืดที่หนาตัวขึ้นจนผิวหนังบริเวณนั้นแข็งตัวและยืดหยุ่นได้น้อย

นอกจากนี้ ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมี การรับประทานยาบางชนิด หรือแม้แต่เกิดการติดเชื้อไวรัสก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มที่ส่งผลให้ควบคุมได้ยากจนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหนังแข็งได้เช่นเดียวกัน

อาการของ Scleroderma

อาการของโรคหนังแข็ง คือ อาการที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบและมักแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของโรคหนังแข็งที่เป็น ดังนี้

  • โรคหนังแข็งที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง มักได้รับผลกระทบเฉพาะผิวหนังบริเวณนิ้วมือ มือ เท้า ใบหน้า ต้นแขน ปลายแขน หน้าอก หน้าท้องและต้นขา ที่ส่งผลให้มีอาการคัน ผิวหนังบวมแข็ง บางคนอาจมีสีผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเข้มหรืออ่อนกว่าปกติและมีความมันวาวกว่าผิวผนังส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ
  • โรคหนังแข็งที่เกี่ยวกับหลอดเลือด ประเภทนี้จะส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวและส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดหรือชาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เช่น นิ้วมือ มือ และเท้า
  • โรคหนังแข็งที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร อาจส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน กลืนอาหารลำบาก ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก และกลั้นอุจจาระไม่อยู่
  • โรคหนังแข็งที่เกี่ยวกับหัวใจและปอด อาจทำให้ความดันโลหิตสูง หายใจถี่ขึ้น เหนื่อยง่าย ความสามารถในการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวที่ใช้แรงมากลดลงและวิงเวียนศีรษะบ่อยครั้ง

การรักษา Scleroderma

อาจไม่มีการรักษาโรคหนังแข็งให้หายขาดหรือการรักษาที่ช่วยหยุดการผลิตคอลลาเจน โดยคุณหมอจะมุ่งเป้าไปที่การรักษาที่ช่วยบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ที่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ยา

  • ยาขยายหลอดเลือด เพื่อช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคหนังแข็งและมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดร่วม
  • ยายับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อาจช่วยยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ช่วยลดความหนาของพังผืดและลดอาการอักเสบ
  • ยาลดกรด โรคหนังแข็งอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารที่อาจทำให้รู้สึกมีอาการจุกเสียดท้อง กรดไหลย้อน ยาลดกรดจึงอาจช่วยบรรเทาอาการเสียดท้องและลดอาการท้องอืดได้
  • ยาบรรเทาอาการปวด คุณหมออาจให้ยาแก้ปวดตามใบคำสั่งแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเมื่อรู้สึกปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากผิวหนังที่ตึงไม่สามารถยืดหดได้

การบำบัด

คุณหมออาจวางแผนร่วมกับนักกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคลเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่นและเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวส่วนที่ได้รับผลกระทบให้ดียิ่งขึ้น เช่น นิ้วมือ แขน ขา 

การผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหนังแข็งและกระทบต่อการทำงานของปอด หัวใจ ไตในระดับรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน คุณหมออาจพิจารณาผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ หรือผ่าตัดพังผืด เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ยึดติด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Scleroderma. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=877 .Accessed January 25, 2023

Scleroderma. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/scleroderma.Accessed January 25, 2023  

Scleroderma. https://www.nhs.uk/conditions/scleroderma/.Accessed January 25, 2023  

Scleroderma. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scleroderma/symptoms-causes/syc-20351952.Accessed January 25, 2023  

Types of Scleroderma. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/scleroderma/types-of-scleroderma.Accessed January 25, 2023  

SCLERODERMA: SIGNS AND SYMPTOMS. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/DISEASES/A-Z/SCLERODERMA-SYMPTOMS.Accessed January 25, 2023  

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้เหงื่อตัวเอง โรคผิวหนังที่เกิดจากความร้อน

ผิวหนัง หย่อน คล้อย สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา