backup og meta

ฉี่แล้วแสบ เกิดจากสาเหตุอะไร

ฉี่แล้วแสบ เกิดจากสาเหตุอะไร

ฉี่แล้วแสบ (ปัสสาวะขัด) คือ อาการเจ็บปวดหรือแสบร้อนที่อวัยวะเพศตอนก่อนหรือหลังปัสสาวะ อาการนี้มักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ก็อาจพบได้บ่อยในผู้ชายที่อายุมาก โดยสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดจากการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ หากฉี่แล้วแสบเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการรักษาและป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

ฉี่แล้วแสบ คืออะไร

ฉี่แล้วแสบ คือ อาการเจ็บปวดหรือแสบร้อนเวลาปัสสาวะและหลังปัสสาวะ โดยปกติมักเกิดบริเวณท่อปัสสาวะหรือบริเวณฝีเย็บ การฉี่แล้วแสบมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ก็อาจพบได้บ่อยในผู้ชายที่อายุมาก 

การฉี่แล้วแสบอาจเกิดจากหลายกรณี หากอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นตอนปัสสาวะ อาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หากมีอาการเจ็บปวดหลังปัสสาวะ อาจเกิดจากความผิดปกติที่ต่อมลูกหมากหรือกระเพาะปัสสาวะ

อาการ

อาการฉี่แล้วแสบ

อาการฉี่แล้วแสบ อาจประกอบไปด้วยความเจ็บปวด แสบร้อน หรือคันที่อวัยวะเพศ ในเพศชาย อาการสามารถเกิดได้ทั้งก่อนและหลังปัสสาวะ ส่วนในเพศหญิง ความเจ็บปวดอาจเกิดได้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ

  • ฉี่แล้วแสบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน
  • พบของเหลวลักษณะคล้ายหนองไหลออกมาจากองคชาตหรือช่องคลอด
  • ปัสสาวะมีกลิ่น มีสีขุ่น หรือมีเลือดเจือปน
  • มีไข้
  • เจ็บปวดที่หลังหรือด้านข้างของลำตัว
  • เป็นนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ

สาเหตุ

สาเหตุของการฉี่แล้วแสบ

อาการฉี่แล้วแสบ อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

การติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไปเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านท่อปัสสาวะ และมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ 

  • เพศ ผู้หญิงมีโอกาสพบการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ชาย
  • เพศสัมพันธ์ ผู้คนที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ มีแนวโน้มติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะมากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยมีเพศสัมพันธ์
  • เบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสพบการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคต่าง ๆ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมากโต อาจทำให้ปัสสาวะระบายออกได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การใส่สายสวนปัสสาวะ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้ามาในร่างกายได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

นอกจากนี้ การฉี่แล้วแสบ ยังอาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เริม

การอักเสบและระคายเคือง โดยเฉพาะที่บริเวณกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งอาจมีสาเหตุดังนี้

  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • การเปลี่ยนแปลงของช่องคลอด เนื่องจากอยู่ในวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน
  • กิจกรรม เช่น การขี่ม้าหรือปั่นจักรยาน
  • การระคายเคืองจากสารเคมี หรือน้ำหอม ที่ผสมในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชำระร่างกาย
  • การใช้ยาบางอย่าง
  • เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคต่าง ๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็ง เชื้อราในช่องคลอด มดลูกอักเสบ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการฉี่แล้วแสบ

การวินิจฉัยอาการฉี่แล้วแสบ มีดังต่อไปนี้ 

  • การสอบถามประวัติทางการแพทย์ โรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจเป็นสาเหตุของอาการฉี่แล้วแสบได้ 
  • การสอบถามเกี่ยวกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์ หากคุณหมอสงสัยว่าการฉี่แล้วแสบเป็นอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การตรวจปัสสาวะ หากพบว่า มีเซลล์เม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ อาจจะบอกได้ว่ามีการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะหรือไม่ และในบางรายคุณหมออาจจะส่งปัสสาวะไปเพาะเชื้อเพิ่มเติม
  • การตรวจเพิ่มเติม ถ้าไม่พบการติดเชื้อจากตัวอย่างปัสสาวะ คุณหมออาจขอตรวจกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมากในผู้ป่วยชาย หรือขอตรวจตัวอย่างเยื่อบุช่องคลอดหรือเยื่อบุท่อปัสสาวะในผู้ป่วยหญิง

การรักษาอาการฉี่แล้วแสบ

เมื่อวินิจฉัยแล้ว คุณหมอจะเลือกรักษาอาการฉี่แล้วแสบตามสาเหตุหรืออาการที่พบ เช่น

  • หากติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ คุณหมอจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หากอาการเจ็บปวดรุนแรง คุณหมออาจใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด ซึ่งอาจจะทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีได้
  • หากผู้ป่วยฉี่แล้วแสบเนื่องจากความผิดปกติของต่อมลูกหมากหรือกระเพาะปัสสาวะ คุณหมอจะรักษาตามความผิดปกติที่พบ เช่น คุณหมอจะจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากโต
  • หากพบการอักเสบจากการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง คุณหมอจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงสาเหตุของการระคายเคือง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับอาการฉี่แล้วแสบ

การดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการฉี่แล้วแสบ ประกอบด้วย

  • ควรดื่มน้ำ 2-3 ลิตร/วัน
  • ในกรณีของผู้หญิง หลังปัสสาวะเสร็จ ควรล้างทำความสะอาดและใช้กระดาษชำระเช็ดบริเวณอวัยวะเพศให้แห้งและสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนาน ๆ
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยวที่มีความเป็นกรด กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาซักผ้าและของใช้ในห้องน้ำที่มีกลิ่นหอม หรือสารเคมี เพื่อลดแนวโน้มในการเกิดการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dysuria (Painful Urination). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15176-dysuria-painful-urination. Accessed January 19, 2022

Dysuria (Painful Urination). https://www.webmd.com/women/dysuria-causes-symptoms. Accessed January 19, 2022

Painful urination (dysuria). https://www.mayoclinic.org/symptoms/painful-urination/basics/definition/sym-20050772. Accessed January 19, 2022

Dysuria. https://www.drugs.com/health-guide/dysuria.html. Accessed January 19, 2022

Cystitis. https://www.nhs.uk/conditions/cystitis/#:~:text=Cystitis%20is%20inflammation%20of%20the,themselves%20within%20a%20few%20days. Accessed January 19, 2022

โรคกระเปาะที่ลำไส้ใหญ่. https://www.bumrungrad.com/th/conditions/diverticular-disease#:~:text=%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD,%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%20%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%20diverticulitis. Accessed January 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/01/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉี่แล้วแสบ เกิดจากอะไร สัญญาณของโรคอะไร

ปัสสาวะเล็ด ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรปล่อยผ่าน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา