backup og meta

ฉี่แล้วแสบ เกิดจากอะไร สัญญาณของโรคอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/07/2023

    ฉี่แล้วแสบ เกิดจากอะไร สัญญาณของโรคอะไร
    ฉี่แล้วแสบ เกิดจากอะไร อาการปัสสาวะแล้วแสบ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเพศหญิง แต่ก็สามารถพบได้ในเพศชายที่มีอายุมากขึ้นเช่นกัน ลักษณะอาการจะแสบหรือเจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศ อาจรู้สึกฉี่แล้วแสบตอนก่อนหรือหลังปัสสาวะ บางกรณีอาจเกิดความรู้สึกคันร่วมด้วย อาการฉี่แล้วแสบอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น หากสังเกตพบอาการฉี่แล้วแสบควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาในทันที 

    ฉี่แล้วแสบ เกิดจากอะไร

    1. สาเหตุจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

    โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในวัยทำงานจากการกลั้นปัสสาวะ พบมากในเพศหญิงวัย 30-40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่แต่งงานแล้ว อาจเกิดการอักเสบในช่องคลอดได้บ่อย เกิดตกขาวมากกว่าปกติ เชื้อแบคทีเรียจะเข้ากระเพาะปัสสาวะง่ายเพราะหลอดปัสสาวะผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย ซึ่งแพทย์จะตรวจปัสสาวะ พบการติดเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมที่อาจปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ เช่น เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะเชื้ออีโคไล เลือด หรือเม็ดเลือดขาว 

    อาการสำคัญของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีดังนี้

    • ปวดฉี่บ่อย อาจมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
    • ลุกมาฉี่บ่อยมากในเวลากลางคืน
    • ฉี่บ่อย แต่ฉี่ออกมาครั้งละน้อย ๆ 
    • ฉี่ได้ไม่สุด หรือเมื่อฉี่สุดแล้ว อาจเจ็บเสียวบริเวณปลายหลอดปัสสาวะ
    • ฉี่แล้วแสบขัด 
    • เจ็บเสียวบริเวณปลายหลอดปัสสาวะหรือบริเวณท้องน้อย 
    • บางรายมีเลือดปนกับปัสสาวะ

    วิธีป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

    • ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน
    • ขับถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด ไม่กลั้นปัสสาวะนานเกิน 6 ชั่วโมง
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดการติดเชื้อโรค

    2. สาเหตุจากโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

    โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเป็นกรดในปัสสาวะและภูมิคุ้มกันลดลง อีกทั้งมีแหล่งสะสมเชื้อโรคเพิ่มในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปัสสาวะเล็ด ในเพศชายเมื่ออายุมากขึ้น สารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อลดลง ส่วนผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เชื้อแลคโตบาซิลลัสบริเวณช่องคลอดน้อยลง ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในช่องคลอดสูงขึ้น เชื้อโรคจึงเติบโตได้ดี 

    อาการสำคัญของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น

    • ร่างกายติดเชื้อส่วนล่างของระบบทางเดินปัสสาวะจะมีผลต่อกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ 
    • ฉี่แล้วแสบขัด 
    • ฉี่บ่อยขึ้น น้ำปัสสาวะสีขุ่น
    • หากติดเชื้อที่กรวยไตจะมีไข้ ปวดหลังร่วมด้วย 

    วิธีป้องกันโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

    • ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน ปัสสาวะจะเจือจางและล้างเชื้อโรคออกจากกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้แบคทีเรียลดลง 
    • ดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาด 
    • สวมเสื้อผ้า กางเกงที่โปร่งสบายเพื่อป้องกันการอับชื้น 
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ ชา และน้ำอัดลม 
    • ไม่กลั้นปัสสาวะนาน ๆ 
    • ดูแลสุขอนามัย 
    • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันท้องผูกเพราะมีผลต่อการทำงานของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ

    3. สาเหตุจากโรคฮันนีมูน 

    โรคฮันนีมูน เกิดเฉพาะในเพศหญิง จากการอักเสบบริเวณท่อปัสสาวะ ช่องคลอด หรือกระเพาะปัสสาวะ หลังจากมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคบริเวณช่องคลอด ฝีเย็บ และทวารหนัก ที่ลุกลามไปยังท่อปัสสาวะจนถึงกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการแสบที่ปลายท่อปัสสาวะ หรือเจ็บที่บริเวณปากช่องคลอด และหากมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบหลังมีเพศสัมพันธ์จะเรียกชื่อโรคว่า โรคฮันนีมูน ซิสไตติส (Honeymoon Cystitis) 

    อาการสำคัญของโรคฮันนีมูน 

    • ฉี่แล้วแสบที่บริเวณปลายท่อปัสสาวะ หรือบริเวณปากช่องคลอด
    • ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่สุด หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ 
    • หากมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย ก็จะมีอาการปัสสาวะบ่อย

    วิธีป้องกันโรคฮันนีมูน 

    • ดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน   
    • หลังมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะและทำความสะอาด
    • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน

    4. สาเหตุจากโรคหนองใน

    หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคชัดเจนและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะมีบุตรยากทั้งหญิงและชาย ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และการตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก 

    อาการของโรคหนองใน 

    • ตกขาวผิดปกติ ปริมาณมากขึ้น มีสีเหลืองหรือเขียว 
    • ฉี่แล้วแสบ
    • เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
    • มีอาการปวดท้องน้อย
    • อาการเพิ่มเติมในผู้ชาย เช่น มูกใสออกจากท่อปัสสาวะโดยไม่ใช่น้ำปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ มีอาการปวดอัณฑะ อาจมีการอักเสบที่หนังหุ้มปลายองคชาต 

    วิธีป้องกันโรคหนองใน

    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
    • งดการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยโรคหนองใน
    • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา