backup og meta

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ สาเหตุ อาการ และการรักษา

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะชนิดหนึ่ง ที่มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด และอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ โรคนี้มักจะรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ แต่หากเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ การรักษาก็จะมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทน

คำจำกัดความ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะที่มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น การใช้ยาบางชนิด การฉายรังสี การแพ้สารเคมี หรืออาจเป็นอาการหนึ่งของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคนิ่วในไต ทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ และมีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ

โดยปกติ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะพบได้บ่อยในเพศหญิง เนื่องจากลักษณะโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะที่สั้นกว่า ทำให้เชื้อโรคมีโอกาสเข้าถึงกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่าในเพศชาย

อาการ

อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจมี ดังต่อไปนี้

  • มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อย แต่อาจปัสสาวะน้อย
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม ขุ่น หรือมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
  • มีอาการปวดบริเวณท้องน้อย
  • มีไข้ อ่อนแรง
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็กเล็ก

สำหรับเด็กเล็ก อาจสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • ปัสสาวะราดในตอนกลางวัน
  • อ่อนแรง
  • เบื่ออาหาร
  • หงุดหงิดง่าย

โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะมักจะหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน แต่หากเชื้อลุกลาม อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากกว่า เช่น ไตอักเสบ และควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อเร่งทำการรักษาในทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของติดเชื้อที่รุนแรงได้

นอกจากนี้ หากอาการยังคงไม่หายไป หรืออาการกำเริบอีกครั้ง หลังจากทำการรักษา ก็ควรติดต่อคุณหมอเช่นกัน

สาเหตุ

สาเหตุของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้ออีโคไล (E. coli) ที่สามารถพบได้บนผิวหนังและลำไส้เล็ก ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การเช็ดทำความสะอาดจากบริเวณทวารหนักมายังอวัยวะเพศ อาจทำให้เชื้อโรคมีโอกาสสัมผัสกับรูปัสสาวะ และทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) ไอฟอสฟาไมด์ (Ifosfamide) ที่มักใช้ในการทำเคมีบำบัด อาจทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้
  • การฉายรังสีบำบัด เพื่อทำการรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน รวมถึงกระเพาะปัสสาวะ เกิดการเสียหาย และเกิดอาการอักเสบได้
  • สิ่งแปลกปลอมที่สอดใส่ในทางเดินปัสสาวะ เช่น สายสวนปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้
  • โรคเรื้อรัง เช่น กลุ่มอาการปวดกระเพาะปัสสาวะ โรคเบาเหวาน นิ่วในไต ภาวะต่อมลูกหมากโต อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีดังต่อไปนี้

  • เพศ ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าถึงกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า
  • การคุมกำเนิดบางชนิด เช่น หมวกยางครอบปากมดลูก หรือไดอะแฟรม (Diaphragms) มักมียาฆ่าเชื้ออสุจิ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้
  • การมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีโอกาสเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
  • การอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

คุณหมอสามารถวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อดูอาการ จากนั้นคุณหมอก็อาจทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เลือด หรือน้ำหนอง ที่อาจปะปนในปัสสาวะ
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) โดยการสอดท่อขนาดเล็กที่มีกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อตรวจดูลักษณะและความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ
  • การฉายภาพกระเพาะปัสสาวะ สำหรับโรคกระเพาะปัสสาวะที่ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจจำเป็นต้องสแกนฉายภาพภายในกระเพาปัสสาวะเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่อาจนำไปสู่การอักเสบ เช่น เนื้องอก

การรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

สำหรับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่มีอาการเล็กน้อย อาจสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ สำหรับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ คุณหมอจะให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ ควรรับประทานยาให้ครบตามที่คุณหมอกำหนด อย่าหยุดกินยาเองโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะอาจทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้
  • กระบวนการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ การขยายกระเพาะปัสสาวะด้วยน้ำหรือแก๊ส สำหรับผู้ที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบเนื่องจากความผิดปกติทางกายภาพของกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีแผลเป็น
  • การกระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านทางผิวหนัง (Nerve stimulation) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยลดความถี่ในการปัสสาวะ

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และดูแลตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

  • รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ดี ล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากขับถ่าย ควรระวังไม่เช็ดทำความสะอาดจากส่วนทวารหนักมาด้านหน้า 
  • ปัสสาวะให้บ่อย อย่าอั้นปัสสาวะนาน ๆ 
  • ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำเคมีบำบัดและฉายแสงบำบัด 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้ระคายเคือง เช่น น้ำหอม แป้งฝุ่น กับอวัยวะเพศ เพราะอาจทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะระคายเคืองและอักเสบ 
  • ปัสสาวะและทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังมีเพศสัมพันธ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cystitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cystitis/symptoms-causes/syc-20371306. Accessed 21 October, 2021

Cystitis. https://www.webmd.com/urinary-incontinence-oab/what-is-cystitis. Accessed 21 October, 2021

Cystitis – acute. https://medlineplus.gov/ency/article/000526.htm. Accessed 21 October, 2021

What is Interstitial Cystitis(IC)/Bladder Pain Syndrome? https://www.urologyhealth.org/urology-a-z/i/interstitial-cystitis#third. Accessed 21 October, 2021

Cystitis. https://www.nhs.uk/conditions/cystitis/. Accessed 21 October, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Krittiya Wongtavavimarn

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คำแนะนำสำหรับการทำหัตถการ ที่ ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ควรรู้

จัดการนิ่วในไต แบบง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Krittiya Wongtavavimarn


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 31/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา