backup og meta

ฉี่เป็นฟอง อันตรายหรือไม่ มีสาเหตุมาจากอะไร

ฉี่เป็นฟอง อันตรายหรือไม่ มีสาเหตุมาจากอะไร

ฉี่เป็นฟอง หมายถึง ลักษณะของปัสสาวะที่ผุดขึ้นเป็นฟอง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการกลั้นปัสสาวะ หรือปัสสาวะแรงจนกระแทกกับผิวน้ำเกิดเป็นฟองขึ้นมา อย่างไรก็ตาม หากฉี่เป็นฟองติดต่อกันหลายครั้ง อาจหมายถึงความผิดปกติของไตและอาการของโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

[embed-health-tool-ovulation]

คำจำกัดความ

ฉี่เป็นฟอง คืออะไร

ฉี่เป็นฟอง มักเกิดจากการขับปัสสาวะอย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะเต็ม หรือกลั้นปัสสาวะไว้นาน ทำให้เวลาปัสสาวะอาจเกิดฟองขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ฉี่เป็นฟองอาจเป็นอาการของภาวะโปรตีนรั่วสู่ปัสสาวะ (Proteinuria) ซึ่งเกิดจากการทำงานของไตที่ผิดปกติ อันเกี่ยวเนื่องกับโรคไตและโรคเบาหวาน

อาการ

อาการเมื่อ ฉี่เป็นฟอง

อาการฉี่เป็นฟอง คือ ปัสสาวะเป็นฟองขาว โดยฟองจะเกิดขึ้นไม่นานแล้วค่อย ๆ หายไป ซึ่งเกิดขึ้นได้ในคนที่กลั้นปัสสาวะไว้จนเต็มกระเพาะปัสสาวะ แล้วขับปัสสาวะแรงจนเกิดฟองได้ รวมไปถึงสาเหตุจากการมีโปรตีนรั่วเข้ามาอยู่ในปัสสาวะก็อาจทำให้ฉี่เป็นฟองได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หากฉี่เป็นฟองเกิดขึ้นจากโปรตีนที่รั่วเข้ามาในปัสสาวะอันเป็นผลจากความผิดปกติของไต อาจพบร่วมกับอาการต่อไปนี้

  • ปัสสาวะบ่อย
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยล้า
  • ไม่อยากอาหาร
  • ใบหน้า ท้อง หรือเท้าบวม
  • คลื่นไส้ อาเจียน

สาเหตุ

สาเหตุของ ฉี่เป็นฟอง

นอกจากการขับปัสสาวะอย่างรุนแรง การฉี่เป็นฟองมักเกิดจากการปะปนของโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวจากสาเหตุที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่าง ร่างกายขาดน้ำ มีความเครียดสะสม ออกกำลังกายอย่างหนัก หรืออาจเกิดอย่างต่อเนื่องเพราะการทำงานของไตที่ไม่สมบูรณ์หรือผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเรื้อรังที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่

  • โรคไต หรือภาวะไตเสื่อมหรือทำงานได้ลดลง ส่งผลให้ไตกำจัดของเสียหรือจัดการกับสารเคมีในร่างกายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเป็นเหตุให้โปรตีนรั่วออกมาปะปนกับปัสสาวะ แทนที่จะถูกกรองและดูดซึมกลับเข้าไปในกระแสเลือด
  • โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคไต เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดของไตซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียเกิดความเสียหายจนทำให้ไตทำงานผิดปกติ
  • โรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดของไตหดตัว และเลือดไหลผ่านไตได้น้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไตทำงานผิดปกติ และขับของเสียได้ไม่ดีนัก จนเกิดการรั่วซึมของโปรตีนสู่ปัสสาวะนำไปสู่การฉี่เป็นฟอง

ทั้งนี้ ภาวะสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งไต โรคลูปัส ภาวะไตอักเสบ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ยังเป็นสาเหตุให้ไตทำงานได้ไม่สมบูรณ์และพบโปรตีนในปัสสาวะจนทำให้ฉี่เป็นฟองได้เช่นกัน

เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

เมื่อพบว่าตัวเองฉี่เป็นฟองอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการต้องสงสัยร่วมด้วย ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุการฉี่เป็นฟองและการรักษาที่ตรงจุด

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยการฉี่เป็นฟอง

เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะตรวจปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ ด้วยการจุ่มแท่งทดสอบลงในตัวอย่างปัสสาวะของคนไข้ซึ่งปัสสาวะลงถ้วยขนาดเล็ก

หากพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ คุณหมออาจขอตรวจเลือดหรือสุขภาพด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจครีเอตินินในเลือด โดยครีเอตินิน (Creatinine) เป็นของเสียซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อของร่างกายเสียหายจนสลายตัว โดยร่างกายจะปล่อยสารครีเอตินินเข้าสู่กระแสเลือด และจะถูกขับออกทางปัสสาวะหากพบครีเอตินินเกินกว่า 1.2 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร จะหมายถึงไตเสื่อม ทำให้ทำงานได้ไม่สมบูรณ์หรือกำลังมีปัญหาในการขับและกรองของเสีย
  • ตรวจอัตราการกรองของเสียของไต (Glomerular Filtration Rate หรือ GFR) ด้วยการเจาะเลือดและคำนวณระดับครีเอตินินตามสูตรคำนวณ ซึ่งอ้างอิงกับอายุ เพศ น้ำหนัก หรือเชื้อชาติของคนไข้ โดยจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นค่า GFR ซึ่งหากมีค่า GFR ตั้งแต่ 60 ลงไป หมายถึง ไตทำงานผิดปกติ

การรักษาอาการฉี่เป็นฟอง

หากมีอาการรฉี่เป็นฟอง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกลั้นปัสสาวะจนทำให้ขับปัสสาวะออกอย่างแรง การออกกำลังกายอย่างหนัก ความเครียด ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอาการฉี่เป็นฟองมักหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา

แต่หากฉี่เป็นฟองเกิดจากการทำงานของไตซึ่งผิดปกติ คุณหมอจะรักษาตามสาเหตุของความผิดปกติ ดังนี้

โรคไต

  • รับประทานยาตามคำสั่งของคุณหมอเพื่อรักษาอาการที่เป็นต้นเหตุ รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง ตัวบวม
  • ปรับพฤติกรรม เช่น การลดอาหารจำพวกโปรตีน ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
  • ฟอกไต หรือการกรองและกำจัดของเสียในเลือดออกจากร่างกาย ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ มักทำในกรณีของผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง ซึ่งอัตราการกรองของเสียของไตอยู่ในระดับต่ำ

โรคเบาหวาน

  • ฉีดอินซูลินหรือรับประทานยา เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าคนปกติ เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ทำให้การลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติจนมีน้ำตาลตกค้างอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก
  • การปรับพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำ หรือมีเส้นใยอาหารสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

โรคความดันโลหิตสูง

รับประทานยาลดความดัน เช่น ยากลุ่ม เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) แองจิโอเทนซิน ทู รีเซ็ปเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin II receptor blocker) เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคไตที่ทำให้การขับของเสียผิดปกติ อันเป็นสาเหตุของฉี่เป็นฟอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันฉี่เป็นฟอง

การฉี่เป็นฟองสามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีภาวะทางสุขภาพ จึงอาจไม่จำเป็นต้องปรับพฤติกรรม แต่หากในกรณีที่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยและบ่งบอกว่าอาจเกิดจากโรคไต เบาหวาน หรือความดันโลหิต จำเป็นต้องปรับพฤติกรรม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Foamy urine: What does it mean?. https://www.mayoclinic.org/foamy-urine/expert-answers/faq-20057871. March 17, 2022

Foamy Urine: What’s Normal, What’s Not. https://www.nm.org/healthbeat/healthy-tips/foamy-urine-whats-normal-whats-not. March 17, 2022

High Blood Pressure and Chronic Kidney Disease. https://www.kidney.org/news/newsroom/factsheets/High-Blood-Pressure-and-CKD#:~:text=High%20blood%20pressure%20causes%20kidney%20damage&text=When%20this%20happens%2C%20the%20kidneys,damage%20leading%20to%20kidney%20failure. March 17, 2022

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: ผลแลปจากการตรวจเลือด….มีความหมายว่าอย่างไร. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/442/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94/#:~:text=Creatinine%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88,%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B4%200.6%2D1.2%20mg%2FdL. March 17, 2022

Estimated Glomerular Filtration Rate (eGFR). https://www.kidney.org/atoz/content/gfr. March 17, 2022

Chronic kidney disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/chronic-kidney-disease/diagnosis-treatment/drc-20354527. March 17, 2022

Treatment: Chronic kidney disease. https://www.nhs.uk/conditions/kidney-disease/treatment/. March 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/06/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่ อาการปัสสาวะเป็นเลือด เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ห้ามกินอะไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา