backup og meta

ท้องเสีย อาการ สาเหตุ การรักษา

ท้องเสีย อาการ สาเหตุ การรักษา

ท้องเสีย หรือท้องร่วง เป็นอาการที่อุจจาระมีลักษณะเหลว หรือถ่ายออกมาเป็นน้ำ ซึ่งอาจถ่ายประมาณ 3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นต่อวัน โดยอาการท้องเสียอาจหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน แต่ถ้าหากท้องเสียต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 วัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน

คำจำกัดความ

ท้องเสีย คืออะไร

ท้องเสีย คือ อาการถ่ายอุจจาระเหลวจนเป็นน้ำ ถ่ายท้องต่อเนื่องประมาณ 3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นต่อวัน บางครั้งอาจถ่ายอุจจาระเป็นเลือด บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว หน้ามืด มีไข้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากอาหารเป็นพิษหรือการติดเชื้อ โดยปกติอาการท้องเสียอาจหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน

ท้องเสียพบได้บ่อยแค่ไหน

อาการท้องเสียสามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย แม้แต่วัยทารกก็สามารถท้องเสียได้เช่นกัน

อาการ

อาการของท้องเสีย

ท้องเสียอาจมีอาการดังนี้

  • ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง  หรือมากกว่านั้นต่อวัน และไม่สามารถอั้นอุจจาระได้ รวมถึงอาจถ่ายเป็นมูกเลือด
  • อ่อนเพลีย มีไข้อ่อน ๆ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง ท้องอืด เป็นตะคริว
  • น้ำหนักลด
  • อาจมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร

หากเป็นวัยผู้ใหญ่ ควรไปพบคุณหมอในกรณีต่อไปนี้

  • ท้องเสียเกิน 2 วัน
  • ปวดศีรษะ มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
  • อุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ
  • ปวดท้อง และเจ็บทวารหนัก
  • คลื่นไส้ อาเจียน จนอาจมีภาวะขาดน้ำ
  • ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม

ส่วนในเด็กทารก หรือวัยเด็ก หากมีอาการเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ควรไปพบคุณหมอทันที

สาเหตุ

สาเหตุของการท้องเสีย

ท้องเสียอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ดังนี้

  • ติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิต เช่น แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) อีโคไล (E. coli) ไกอาเดีย (Giardia Lamblia) เป็นเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือน้ำ และเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทาน ซึ่งเชื้อเหล่านั้นอาจส่งผลทำให้เกิดอาการท้องเสีย
  • ติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรต้า (Rotavirus) โนโรไวรัส (Norovirus) ก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงเฉียบพลัน
  • แพ้แลคโตส แลคโตสเป็นน้ำตาลที่พบในนมและผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ ผู้ที่มีปัญหาในการย่อยแลคโตสอาจมีอาการท้องร่วงหลังจากดื่มนม
  • แพ้ฟรุกโตส ฟรุกโตสเป็นน้ำตาลที่พบตามธรรมชาติในผลไม้และน้ำผึ้ง รวมถึงเป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่มบางชนิด สำหรับผู้ที่มีปัญหาระบบย่อยอาหาร อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้
  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) แมนนิทอล (Mannitol) อิริทริทอล (Erythritol) ที่อาจพบในหมากฝรั่ง หากรับประทานในสารที่ให้ความแทนน้ำตาลมากก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียได้
  • ผลข้างเคียงของยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม ยารักษาโรคมะเร็ง
  • ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน โรคเซลิแอค (Celiac Disease) ลำไส้เล็กมีการทำงานที่ผิดปกติ
  • เข้ารับการผ่าตัดบางชนิด เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ถุงน้ำดี ตับ ม้าม อาจมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับการผ่าตัด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น

  • รับประทานอาหารที่ไม่สุก ทำให้อาจมีเชื้อแบคทีเรีย ปรสิตปนเปื้อนอยู่ในอาหาร
  • แพ้แลคโตส ฟรุกโตส ในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
  • มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยและการรักษาท้องเสีย

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการท้องเสีย

ในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการท้องเสีย อาจมีวิธีการดังนี้

  • การสอบถามประวัติ เช่น การใช้ยา การรับประทานอาหาร
  • การตรวจร่างกาย เช่น ความดันโลหิต มีภาวะขาดน้ำหรือไม่ รวมไปถึงตรวจบริเวณท้องว่ามีก้อนเนื้อ ที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดอาการท้องเสียหรือไม่
  • การตรวจอุจจาระ โดยเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อหาเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
  • การวัดค่าก๊าซไฮโดรเจน การทดสอบประเภทนี้ช่วยให้คุณหมอรู้ว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้แลคโตสหรือไม่ หลังจากให้ผู้ป่วยดื่มของเหลวที่มีแลคโตสสูง แล้วคุณหมอจะวัดปริมาณไฮโดรเจนจากลมหายใจ หาก หายใจเอาไฮโดรเจนออกมากเกินแสดงว่าร่างกายย่อยและดูดซับแลคโตสได้ไม่ดี
  • การตรวจเลือด โดยเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อหาความผิดปกติในค่าเลือดที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
  • การส่องกล้อง โดยการนำกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้คุณหมอสามารถเห็นอวัยวะภายในที่ตรวจ และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อมาเพื่อวินิจฉัยอาการของโรคเพิ่มเติม

การรักษาท้องเสีย

หากท้องเสียอาการไม่รุนแรงมากนัก อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากอาการอาจจะบรรเทาตามลำดับ โดยผู้ที่มีอาการท้องเสียอาจรับประทานยา เช่น บิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) เป็นยาฆ่าเชื้อ โลเพอราไมด์ (Loperamide) ยารักษาอาการท้องร่วง รวมถึงควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ หรืออิเล็กโทรไลต์ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำในช่วงระหว่างวัน หากรักษาที่บ้านแล้วไม่ดีขึ้น คุณหมออาจแนะนำการใช้ยาหรือการรักษาอื่น ๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านปรสิต ที่อาจช่วยรักษาอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต นอกจากนี้หากอาการท้องเสียเกิดจากภาวะรุนแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยอาจได้รับการส่งต่อการรักษาไปยังผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบทางเดินอาหารโดยตรง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง

การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่างและการดูแลตัวเองอาจช่วยหลีกเลี่ยงอาการท้องเสียได้ เช่น

  • ล้างมือบ่อย ๆ โดยควรล้างให้สะอาดก่อนและหลังเตรียมอาหาร รวมถึงก่อนรับประทานอาหาร หากไม่สามารถล้างมือได้ ควรใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก เพราะอาหารที่ยังปรุงไม่สุกอาจมีแบคทีเรียหรือพยาธิ ที่อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย
  • รับประทานโพรไบโอติก เป็นจุลินทรีย์ที่อาจช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย อาจพบได้ในโยเกิร์ต
  • รับประทานยาต้านอาการท้องเสีย เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide) บิสมัท (Bismuth) อาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้
  • ล้างผัก ผลไม้ก่อนรับประทานทุกครั้ง
  • ดื่มน้ำสะอาด ถูกสุขอนามัย หากใช้น้ำประปา ควรนำไปต้มก่อนดื่ม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดก่อน เช่น ผลิตภัณฑ์นม อาหารที่มีใยอาหารสูง เพราะอาจส่งผลให้อาการท้องเสียไม่ดีขึ้น
  • เมื่อเกิดอาการท้องเสียควรดื่มน้ำ หรือเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย
  • ฉีดวัคซีนไวรัสโรต้า สำหรับเด็กทารก เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคท้องเสีย ควรปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diarrhea. https://medlineplus.gov/diarrhea.html. Accessed November 22, 2021

Diarrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diarrhea/symptoms-causes/syc-20352241. Accessed November 22, 2021

Diarrhea. https://www.webmd.com/digestive-disorders/digestive-diseases-diarrhea. Accessed November 22, 2021

Diarrhoea and vomiting. https://www.nhs.uk/conditions/diarrhoea-and-vomiting/. Accessed November 22, 2021

Symptoms & Causes of Diarrhea. https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/diarrhea/symptoms-causes. Accessed November 22, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/11/2021

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เดี๋ยวท้องเสีย เดี๋ยวท้องผูก! ไม่อยาก ท้องไส้ปั่นป่วน เวลาไปเที่ยว เราป้องกันได้

อาการท้องร่วงของนักเดินทาง (Traveler's Diarrhea) โรคระบบทางเดินอาหารของนักท่องเที่ยว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 22/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา