backup og meta

ปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็นๆหายๆ มีเกิดจากสาเหตุจากอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    ปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็นๆหายๆ มีเกิดจากสาเหตุจากอะไร

    ปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็นๆหายๆ เป็นอาการป่วยของปัญหาสุขภาพ เช่น แก๊สในลำไส้ การแพ้อาหาร รวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ทั้งนี้ หากพบอาการปวดท้องบิดในลักษณะที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่หายไปภายใน 6 ชั่วโมง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษา

    สาเหตุของอาการปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็นหาย

    ปวดท้องบิด ตรงกลาง แบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นอาการป่วยที่พบได้ทั่วไป โดยอาจมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • แก๊สในลำไส้ เกิดจากอาหารไม่ย่อย การมีลมหรืออากาศเข้าไปในร่างกายมากเกินไประหว่างรับประทานอาหาร รวมถึงการบริโภคอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สอย่าง ผัก ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ หรือธัญพืชเต็มเมล็ด จนทำให้เกิดอาการปวดท้องเมื่อแก๊สไม่ถูกระบายออกจากระบบย่อยอาหาร อย่างไรก็ตาม แก๊สในลำไส้จะหายไปเองภายใน 2-3 ชั่วโมง
  • การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ การใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องอย่างหนัก รวมถึงการประสบอุบัติเหตุ อาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องบาดเจ็บ และมีอาการปวดท้องบิด ตรงกลาง แบบเป็น ๆ หาย ๆ ระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
  • โรคลำไส้แปรปรวน หรือบางครั้งเรียกย่อ ๆ ว่า ไอบีเอส (Irritable Bowel Syndrome) เป็นโรคที่ลำไส้ส่วนปลายทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการปวดเกร็งหรืออึดอัดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก โดยอาการมักกำเริบเมื่อมีความเครียด หรือหลังบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชา กาแฟ ผลไม้ตระกูลส้ม ข้าวสาลี ถั่ว ทั้งนี้ โรคลำไส้แปรปรวนยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรับประทานยาและการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ได้
  • โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เป็นโรคที่พบได้ในทุกวัย เกิดจากเชื้อโรคอย่างโนโรไวรัส (Norovirus) หรือโรต้าไวรัส (Rotavirus) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่ม หรือตามช้อนส้อมและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยทั่วไป เมื่อเป็นโรคนี้จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และมีไข้อ่อน ๆ อย่างไรก็ตาม โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบอาจหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์
  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร เเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) รวมถึงการรับประทานยาแก้ปวดเป็นประจำ จนทำให้เป็นบริเวณกระเพาะอาหารหรือส่วนบนของลำไส้เล็กเกิดแผลพุพอง ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง โดยมักปวดท้องบิด ตรงกลางอย่างรุนแรงเมื่อท้องว่าง แต่จะหายไปเมื่อรับประทานอาหาร
  • การแพ้อาหารและน้ำตาลแลคโตส เมื่อผู้ที่แพ้อาหารรับประทานอาหารที่แพ้ ระบบภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ภายในร่างกายและทำให้มีอาการแพ้ เช่น ปวดท้อง ท้องร่วง อาเจียน ตามมา ขณะเดียวกัน หากแพ้น้ำตาลแลคโตส ร่างกายจะย่อยน้ำตาลแลคโตสไม่ได้ ทำให้เกิดแก๊สและน้ำตาลส่วนเกินจากการทำปฏิกิริยาระหว่างน้ำตาลแลคโตสและแบคทีเรียในลำไส้ ส่งผลให้มีอาการปวดท้องแบบชั่วคราว บริเวณหน้าท้องส่วนกลางหรือส่วนล่าง
  • ซีสต์รังไข่ เป็นภาวะสุขภาพที่พบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ลักษณะเป็นถุงน้ำภายในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อาจหายเองได้ภายใน 2-3 เดือน ทั้งนี้ เมื่อเป็นซีสต์รังไข่ บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ในขณะที่บางรายอาจปวดท้องน้อยแบบเป็น ๆ หาย ๆ ท้องอืด และประจำเดือนมาไม่ปกติ นอกจากนั้น บางรายอาจมีอาการซีสต์แตก ทำให้ปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน และต้องรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษา
  • อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาสุขภาพที่กล่าวถึงข้างต้น ๆ อาการปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็นๆหายๆ ยังอาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ดังต่อไปนี้

    • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคภูมิต้านตนเองของลำไส้เล็ก
    • โรคกระเพาะอาหาร
    • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
    • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
    • โรคมะเร็ง
    • ปวดท้องน้อยจากไข่ตก

    ปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็นหาย แบบไหนควรไปพบคุณหมอ

    ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุ หากอาการปวดท้องบิด ตรงกลาง เป็นๆหายๆ มีลักษณะดังนี้

    • เกิดขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 6 ชั่วโมง
    • เกิดขึ้นเฉียบพลันหลังรับประทานอาหาร
    • เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุและอาการแย่ลงเรื่อย ๆ
    • เกิดขึ้นพร้อมกับการพบเลือดปนในอุจจาระ
    • เกิดขึ้นพร้อมกับอาการท้องบวม
    • เกิดขึ้นพร้อมกับภาวะตัวเหลือง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา