backup og meta

โรคกระเพาะ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/12/2022

    โรคกระเพาะ สาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

    โรคกระเพาะ เป็นการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด การรับประทานยาแก้ปวดเป็นประจำ รักษาได้ด้วยการรับประทานยา ควบคู่กับการดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    คำจำกัดความ

    โรคกระเพาะ คืออะไร

    โรคกระเพาะหรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) เป็นการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร

    มีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยอัตราของผู้ป่วยโรคกระเพาะแบบเฉียบพลันมักพบประมาณ 8 คนจาก 1,000 คน ในขณะที่ผู้ป่วยโรคกระเพาะแบบเรื้อรังพบ 2 คนจาก 10,000 คน

    อาการ

    อาการของ โรคกระเพาะ

    อาการที่พบได้เมื่อเป็นโรคกระเพาะ ได้แก่

    • ปวดท้อง
    • แน่นท้อง ท้องอืด
    • อาหารไม่ย่อย
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ไม่อยากอาหาร
    • เรอหรือผายลมบ่อยกว่าปกติ

    นอกจากนี้ หากปล่อยโรคกระเพาะไว้โดยไม่รักษา อาจเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  • มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • มีภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการเสียเลือดเมื่อเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
  • เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง
  • เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • สาเหตุ

    สาเหตุของ โรคกระเพาะ

    โรคกระเพาะมีสาเหตุมาจากการที่เยื่อบุกระเพาะอาหารมีความต้านทานต่อกรดในกระเพาะอาหารลดลงหรือได้รับความเสียหาย เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori)
    • การรับประทานยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen Sodium)
    • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด
    • ความเครียด
    • ภาวะภูมิแพ้ตัวเอง อาจทำให้เซลล์ที่สร้างเยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย
    • เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลงเมื่ออายุมากขึ้น
    • น้ำดีไหลย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะอาหาร
    • การฉายรังสีหรือรับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    โดยทั่วไป โรคกระเพาะจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ดังนั้น หากมีอาการของโรคกระเพาะ อาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้วรอดูอาการ แต่หากมีอาการป่วยในลักษณะต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

    • อาเจียนเป็นเลือด
    • พบเลือดในอุจจาระ หรืออุจจาระเป็นสีดำ
    • ปวดท้องในระดับรุนแรง
    • หมดแรง คล้ายมีภาวะโลหิตจาง
    • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • กลืนอาหารได้ลำบาก
    • อาการไม่ทุเลาลงหลังรับประทานยา

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยโรคกระเพาะ

    เมื่อไปพบคุณหมอด้วยโรคกระเพาะ หรือมีอาการของโรคกระเพาะ คุณหมอจะวินิจฉัยโรคด้วยการสอบถามอาการร่วมกับการตรวจดังต่อไปนี้

    • ตรวจระบบทางเดินอาหารผ่านการทดสอบทางลมหายใจ เป็นการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ด้วยการให้คนไข้บริโภคแคปซูลหรือของเหลวที่ผสมสารยูเรียไว้แล้วเป่าลมใส่ถุง หากมีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในถุงจะเพิ่มขึ้น เพราะเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรมีคุณสมบัติเปลี่ยนยูเรียเป็นคาร์บอนไดออกไซด์
    • ตรวจเลือด หรือการเจาะเอาตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร
    • ตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรในตัวอย่างอุจจาระ
    • ตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้นด้วยการเอกซเรย์ เพื่อมองหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ทั้งนี้ ก่อนการตรวจ คุณหมอจะให้คนไข้กลืนธาตุแบเรียม (Barium) เพราะแบเรียมมีคุณสมบัติช่วยให้มองเห็นภายในระบบทางเดินอาหารชัดเจนขึ้น
    • ตรวจทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้อง โดยคุณหมอจะสอดกล้องเข้าทางปากของคนไข้ เพื่อตรวจดูสัญญาณของการอักเสบในกระเพาะอาหาร

    การรักษาโรคกระเพาะ

    หลังวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ คุณหมอจะจ่ายยาดังต่อไปนี้

    • ยาต้านแบคทีเรีย เช่น คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) อะม็อกซีซิลลีน (Amoxicillin) เพื่อกำจัดแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรในกระเพาะอาหาร
    • ยายับยั้งการหลั่งกรด มีฤทธิ์ลดกรดในท้อง ช่วยบรรเทาอาการปวดและแน่นท้อง และส่งเสริมการฟื้นฟูตัวเองของกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ ยาลดกรดที่คุณหมอจ่ายให้อาจเป็นยากลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) เช่น แลนโซพราโซล (Lansoprazole) ราบีพราโซล (Rabeprazole) หรือยาในกลุ่มเอซิด บล็อกเกอร์ (Acid Blockers) อย่าง ฟาโมทิดีน (Famotidine) และไซเมทิดีน (Cimetidine)
    • ยาลดกรด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) ซึ่งช่วยปรับสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกลางมากขึ้น และช่วยบรรเทาการอักเสบภายในกระเพาะอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้หรือยาในกลุ่มเดียวกัน มีผลข้างเคียงคือทำให้ท้องผูกหรือท้องร่วงได้

    การปรับไลฟ์สไตล์และดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการของ โรคกระเพาะ สามารถทำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ทุกมื้อ
    • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือมันจัด รวมถึงงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองได้
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวดบ่อย ๆ
    • ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ
    • ไม่นอนทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
    • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา