ปวดท้องบิด เป็นความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนท้องถูกมัดเป็นปมในบริเวณใดก็ได้ โดยอาจอยู่ระหว่างด้านล่างของซี่โครงและกระดูกเชิงกราน ซึ่งอาการปวดท้องบิดอาจหายไปเองหรืออาจปวดรุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องบิดเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและทำการรักษา
[embed-health-tool-bmi]
ปวดท้องบิด เกิดจากอะไร
ปวดท้องบิด เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ในหลายตำแหน่ง เช่น ท้องส่วนบน ท้องส่วนบนขวา บริเวณใกล้สะดือ ท้องล่างขวา โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แก๊สในกระเพาะมากเกินไป เป็นตะคริวที่ท้องเนื่องจากกระเพาะและลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส รวมถึงยังอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบย่อยอาหารและลำไส้ที่ไม่รุนแรง เช่น
- ท้องผูก ท้องเสีย
- อาหารไม่ย่อย
- ไข้หวัดลงกระเพาะ
- ลำไส้แปรปรวน
- แพ้อาหาร แพ้แลคโตส
- อาหารเป็นพิษ
หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ร้ายแรง เช่น
- มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งอวัยวะอื่น ๆ
- ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี
- หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง
- ลำไส้อุดตัน โรคลำไส้อักเสบ
- กรดไหลย้อน
- ลำไส้ขาดเลือด
- ตับอ่อนอักเสบ
อาการปวดท้องบิดที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น
- ปวดประจำเดือน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ปอดอักเสบ
- การตั้งครรภ์
- ถุงน้ำรังไข่แตก
- โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ
- นิ่วในไต
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
นอกจากนี้ อาการปวดท้องบิดยังอาจมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของยา เช่น
- ยาแอสไพริน
- ยาต้านการอักเสบ
- ยารักษาโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์
อาการที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการปวดท้องบิด
บางครั้งอาการปวดท้องบิดยังอาจเกิดพร้อมกับอาการปวดแสบปวดร้อน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร การผายลม เรอ มีไข้ ขาดน้ำ เสียดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกสูญเสียความอยากอาหาร
เมื่อไหร่ควรเข้าพบคุณหมอ
อาการปวดท้องบิดอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ดังนั้น หากมีอาการที่รุนแรงหรือมีอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการ
- ปวดท้องบิดรุนแรง หรืออาการแย่ลง
- อาการปวดท้องบิดเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหรือมากกว่านั้น
- อาการปวดท้องบิดรบกวนการนอนหลับ
- อาการปวดแพร่กระจายไปยังคอ หน้าอก หรือไหล่
- อาการปวดท้องทำให้กลืนลำบาก หรือความอยากอาหารลดลง
- มีเลือดออกจากลำไส้ หรือมีเลือดปนในปัสสาวะ
- เลือดออกทางช่องคลอด
- นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป โดยไม่สามารถปัสสาวะ อุจจาระ หรือผายลมได้ตามปกติ
- อาเจียนอย่างต่อเนื่อง มีไข้สูง ผิวเหลือง
- ท้องบวม น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
วิธีดูแลตัวเองเมื่อปวดท้องบิด
การรักษาอาการปวดท้องบิดอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ เช่น ความผิดปกติของระบบย่อยอาหารและลำไส้ ผลข้างเคียงของยา (เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาลดการอักเสบ)ดังนั้น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารอาจช่วยลดอาการปวดท้องบิดได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อและรับประทานอาหารช้า ๆ เพื่อให้อาหารย่อยได้ง่ายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดดอาการท้องอืด แก๊สในกระเพาะอาหาร และป้องกันอาการปวดท้องบิดได้
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง เนื่องจากการดื่มน้ำเย็นอาจส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารและอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องบิดได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแก๊สสูงหรือย่อยยาก เช่น เบียร์ น้ำอัดลม โซดา กะหล่ำปลี ถั่ว ธัญพืช
- จัดการกับความเครียด เนื่องจากฮอร์โมนความเครียดอาจส่งผลให้ระบบย่อยอาหารและลำไส้ทำงานลดลง ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องบิดได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ และไม่นอนหลังจากรับประทานอาหาร เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น