ประจำเดือนเลื่อน หมายถึง การที่เลือดประจำเดือนซึ่งเคยมาทุกเดือนในรอบเดือนที่เท่า ๆ กัน เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ประจำเดือนมาช้าหรือเร็วกว่าปกติ โดยมีสาเหตุมาจากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การตั้งครรภ์ การออกกำลังกายอย่างหนัก การลดหรือเพิ่มน้ำหนักในเวลาอันรวดเร็ว ความอ้วน หากประจำเดือนเลื่อนบ่อยครั้ง ควรหาเวลาไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยหาสาเหตุ
[embed-health-tool-ovulation]
ประจำเดือนคืออะไร ประจำเดือนมาปกติเป็นแบบไหน
ประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพของเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ เมื่อไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกจากมดลูก และกลายเป็นเลือดประจำเดือน
โดยทั่วไป ผู้หญิงจะมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุระหว่าง 12-15 ปี อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเป็นประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุ 8 ปี หรือช้ากว่านั้นแต่มักไม่เกิน 16 ปี
เมื่อเป็นประจำเดือน ผู้หญิงจะมีเลือดไหลออกทางช่องคลอด ติดต่อกันประมาณ 5-7 วัน อย่างไรก็ตาม บางคนอาจเป็นประจำเดือนน้อยกว่านั้น ประมาณ 3-5 วันโดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น เช่น ปวดท้อง ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน สิวขึ้น หิวมากเป็นพิเศษ
ประจำเดือนเลื่อน ปกติหรือไม่
โดยเฉลี่ย ผู้หญิงจะเป็นประจำเดือนทุก ๆ 28 วัน อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนอาจเลื่อน มาช้าหรือเร็วกว่าเดือนก่อนหน้า ประมาณไม่เกิน 7 วัน ถือเป็นเรื่องปกติ ทำให้ระยะห่างระหว่างรอบเดือนอยู่ระหว่าง 21-35 วัน
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนเลื่อน
เมื่อประจำเดือนเลื่อน หรือประจำเดือนไม่มา หลายคนอาจนึกถึงการตั้งครรภ์เป็นเหตุผลแรก อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนเลื่อนมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งมีสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ความเครียด เมื่อมีความเครียด ต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนความเครียด ซึ่งไปรบกวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์จนเกิดความผิดปกติ ทำให้ประจำเดือนเลื่อน ไม่มา หรือมาน้อยกว่าปกติ
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และทำให้ประจำเดือนเลื่อนได้
- ออกกำลังกายหักโหมเป็นประจำ ทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งคอร์ติซอลออกมา และส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อนได้ เช่นเดียวกับในกรณีของความเครียด
- น้ำหนักเกิน ผู้ที่มีค่าดัชมีมวลกายสูง (ฺBMI-Body Mass Index) หรือมีค่า BMI 23 ขึ้นไป อาจทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) มากเกินไป และเป็นผลให้ประจำเดือนเลื่อนได้
- ปัญหาด้านสุขภาพ หากมีอาการเจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น เบาหวาน อาจทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล แล้วส่งผลให้ร่างกายตกไข่ไม่สม่ำเสมอและประจำเดือนเลื่อนได้
- ยาคุมกำเนิด เนื่องจากมีส่วนประกอบเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ ยับยั้งการตกไข่ ร่างกายจำเป็นต้องปรับตัวและปรับระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ประจำเดือนเลื่อน ประจำเดือนมาน้อย นอกจากนี้ การหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ยังอาจทำให้ประจำเดือนไม่มาแบบชั่วคราวหรือประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นประจำเดือนตามปกติ
- วัยทอง เป็นภาวะธรรมชาติของเพศหญิง เมื่ออายุระหว่าง 45-55 ปี ซึ่งฮอร์โมนเพศลดลง ทำให้ร่างกายไม่ตกไข่และหมดประจำเดือนในที่สุด ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วัยทอง ประจำเดือนอาจเลื่อน มาช้าหรือเร็วกว่าปกติ
ประจำเดือนเลื่อนแบบไหน ควรไปพบคุณหมอ
หากประจำเดือนเลื่อน พร้อมทั้งมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาจหมายถึงมีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาในระบบสืบพันธุ์
- เป็นประจำเดือน พร้อมกับมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยแทบทุกครั้ง เช่น เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว คลื่นไส้ อาเจียน
- ระยะห่างระหว่างรอบเดือน น้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน ติดต่อกันเกิน 3 เดือน
- ประจำเดือนมาในปริมาณมากกว่าปกติ ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง หรือมาน้อยแบบกะปริบกะปอย
- เป็นประจำเดือนเกิน 7 วัน หรือน้อยกว่า 2 วัน
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเหมือนเป็นประจำเดือน หลังจากประจำเดือนหมดไปแล้วเมื่อเข้าสู่วัยทอง