backup og meta

PCOS คือ อะไร อาการ วิธีรักษาและวิธีดูแลตัวเอง

PCOS คือ อะไร อาการ วิธีรักษาและวิธีดูแลตัวเอง

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome: PCOS คือ ภาวะที่ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) สูง ร่วมกับภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติและอาจมีบุตรยาก นอกจากนี้ ระดับฮอร์โมนที่แปรปรวนอาจทำให้มีสิวขึ้น ผมร่วง มีขนดกขึ้นตามตัว ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรหมั่นสังเกตสัญญาณของภาวะ PCOS หากพบอาการเข้าข่ายควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

[embed-health-tool-ovulation]

PCOS คือ อะไร

PCOS คือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นภาวะที่มีถุงของเหลว หรือซีสต์จำนวนมากเติบโตภายในรังไข่ ถุงน้ำในรังไข่เหล่านี้ไม่สามารถปล่อยไข่ออกมาได้และไปเบียดรังไข่ ทำให้การทำงานของรังไข่ เช่น การผลิตไข่ การตกไข่ ผิดปกติ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้ต่อมหมวกไตผลิตแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนออกมามากเกินไป (Hyperandrogenism) จนส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น กระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้เกิดสิวฮอร์โมน ทั้งยังทำให้มีขนขึ้นตามร่างกาย และอาจสูญเสียผมบนศีรษะในลักษณะเดียวกับที่พบบ่อยในผู้ชาย

PCOS เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Human Reproductive Sciences เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วย PCOS เก่าและใหม่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร พบว่า ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นภาวะที่สามารถพบใน 4%–20% ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทั่วโลก

สาเหตุที่ทำให้เกิด PCOS

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะ PCOS แต่ปัจจัยเหล่านี้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้

  • ภาวะดื้ออินซูลิน คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อในร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และร่างกายผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ระดับอินซูลินที่มากเกินไปอาจกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนและเพิ่มการผลิตฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของถุงไข่ซึ่งอยู่ในรังไข่และมีหน้าที่ผลิตไข่ และทำให้วงจรการตกไข่ผิดปกติ
  • ภาวะการอักเสบแบบอ่อน (Low grade inflammation) ร่างกายอาจอยู่ในภาวะอักเสบแบบอ่อน ซึ่งเกิดจากเม็ดเลือดขาวผลิตสารที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อมากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินและโรคอ้วน และนำไปสู่การเกิดภาวะ PCOS ได้
  • พันธุกรรม ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนทำให้เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่ ผู้หญิงที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ PCOS ก็อาจเสี่ยงเกิดภาวะนี้มากขึ้น

อาการของผู้ที่มีภาวะ PCOS

PCOS หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาจส่งผลให้มีอาการหรือภาวะดังต่อไปนี้

  • มีบุตรยาก เนื่องจากถุงน้ำในรังไข่ทำให้รังไข่ทำงานผิดปกติ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากมีการตกไข่ไม่สม่ำเสมอ
  • มีผิวมันและเป็นสิวง่าย ทั้งบริเวณใบหน้าและลำตัว
  • มีขนขึ้นดกผิดปกติตามผิวหน้า หน้าอก หน้าท้อง หรือแขนขา
  • ผมร่วงเยอะผิดปกติ
  • ผิวหนังหนาขึ้น
  • น้ำหนักขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะ PCOS

ภาวะ PCOS หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพรุนแรงเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน

  • โรคเบาหวาน ผู้หญิงที่เป็น PCOS เมื่ออายุเกิน 40 ปี อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ PCOS อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์อย่างภาวะครรภ์เป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ให้กับทั้งคุณแม่และทารกได้ในอนาคต
  • โรคหัวใจ ผู้หญิงที่เป็น PCOS เสี่ยงเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีภาวะนี้ และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ยิ่งหากมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดผิดปกติด้วยก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจมากขึ้นไปอีก
  • โรคความดันโลหิตสูง อาจกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สมอง และไต
  • โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) เกิดจากทางเดินหายใจถูกปิดกั้น จนทำให้หยุดหายใจระหว่างนอนหลับ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • โรคซึมเศร้า ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจจนเกิดภาวะซึมเศร้าได้

วิธีรักษาและดูแลตัวเองเมื่อเป็น PCOS

เนื่องจากสาเหตุของ PCOS ไม่แน่ชัด วิธีรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ และผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน การรักษาและดูแลตัวเองที่เหมาะสมอาจมีดังนี้

  • สำหรับผู้ที่มีภาวะตกไข่ผิดปกติ หรือภาวะไข่ไม่ตก คุณหมออาจให้รับประทานยาฮอร์โมน เช่น ยาโคลมีฟีน (Clomiphene) ยาเลโทรโซล (Letrozole) เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ทำงานปกติ และอาจให้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) เพื่อรักษาเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์
  • สำหรับผู้ที่มีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเพื่อกระตุ้นให้ประจำเดือนมาปกติ ยาคุมกำเนิดที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเพศหญิงยังมีส่วนช่วยลดฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ทำให้ผมร่วงด้วย
  • ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และช่วยให้ฮอร์โมนกลับมาอยู่ในระดับปกติได้
  • จำกัดการบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง เพราะอาจเพิ่มระดับอินซูลินได้ อาจเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbs) จำพวกแป้งและเส้นใยอาหาร เช่น ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ดีกว่า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Polycystic ovary syndrome (PCOS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pcos/symptoms-causes/syc-20353439. Accessed January 31, 2023.

Polycystic ovary syndrome. https://www.nhs.uk/conditions/polycystic-ovary-syndrome-pcos/. Accessed January 31, 2023.

PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) and Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/pcos.html. Accessed January 31, 2023.

Polycystic ovary syndrome. https://medlineplus.gov/genetics/condition/polycystic-ovary-syndrome/#resources. Accessed January 31, 2023.

Polycystic ovary syndrome. https://111.wales.nhs.uk/encyclopaedia/p/article/polycysticovarysyndrome/. Accessed January 31, 2023.

The Prevalence of Polycystic Ovary Syndrome: A Brief Systematic Review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7879843. Accessed January 31, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

การออกกำลังกายสำหรับโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ ออกกำลังกายแบบไหน ช่วยรับมือโรค

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและดูแลตัวเองที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา