backup og meta

ยาลดไขมันในเลือด และผลข้างเคียง

ยาลดไขมันในเลือด และผลข้างเคียง

ยาลดไขมันในเลือด คืออีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยลดระดับไขมันที่สะสมอยู่ในหลอดเลือด นอกเหนือจากการควบคุมอาหาร และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่การใช้ยาลดไขมันในเลือดก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้นจึงควรศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์และโทษของยาแต่ละชนิดให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้ยาที่เหมาะสม

ยาลดไขมันในเลือดใช้เพื่ออะไร

เมื่อคอเลสเตอรอลสูงขึ้นจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และพันธุกรรม ก็อาจทำให้ระดับไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป ไขมันเหล่านี้อาจเกาะสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตับ ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด แล้วอาจทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงระบบการทำงานแก่อวัยวะต่าง ๆ ได้ยาก นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว

การลดระดับไขมันในเลือด ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงการใช้ยาลดไขมันในเลือด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดระดับไขมันในเลือดสะสม และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ยาลดไขมันในเลือดก็มีอยู่หลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีการทำงานและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ เพื่อหาวิธีลดไขมันในเลือดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน

ยาลดไขมันในเลือด ที่แพทย์นิยมเลือกใช้

ยาลดไขมันมีอยู่หลายประเภท ซึ่งอาจมีการทำงานและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ดังนี้

กลุ่มยาสแตติน(Statin)

เป็นกลุ่มยาที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุด เพื่อช่วยลดไขมันไม่ดีในเลือด ลดไตรกลีเซอไรด์ และอาจช่วยเพิ่มระดับของไขมันดีในร่างกายได้

ยาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาสแตติน ได้แก่

  • อะทอร์วาสแททิน (Atorvastatin)
  • ฟลูวาสแตติน (Fluvastatin)
  • โลวาสแตติน (Lovastatin)
  • ซิมวาสแตติน (Simvastatin)
  • พราวาสแตติน (Pravastatin)
  • โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin)
  • พิทาวาสแตติน (Pitavastatin)

ผลข้างเคียง : กลุ่มยาสแตตินอาจส่งผลให้ตับและลำไส้ได้รับความเสียหาย กล้ามเนื้ออักเสบ ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการสูญเสียความจำและสับสนเล็กน้อย แต่อาการเหล่านี้มักจะไม่เป็นอันตราย และจะหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มสแตตินอาจทำปฏิกิริยากับยาอื่น ดังนั้น จึงควรบอกให้คุณหมอทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่กำลังใช้ก่อนเสมอ

ยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (Bile Acid Sequestrants)

เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยการกักเก็บน้ำดีในระบบทางเดินอาหาร และป้องกันไม่ให้ดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด น้ำดีเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการย่อยไขมันในลำไส้ ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ การใช้ยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์จึงอาจสามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้

ยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ที่นิยมเลือกใช้ มีดังนี้

  • คอเลสไทรามีน (Cholestyramine)
  • คอเลสเซเวแลม (Colesevelam)
  • คอเลสติพอล (Colestipol)

ผลข้างเคียง : ยาในกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ปวดท้อง และท้องอืด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป และไม่อันตรายใด ๆ

ยาในกลุ่ม PCSK9 Inhibitors

ยาในกลุ่ม PCSK9 Inhibitors เป็นยาลำไขมันในเลือดสำหรับผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มสแตตินแล้วไม่เห็นผล ยานี้จะปิดกั้นสาร PCSK9 ช่วยให้ร่างกายกำจัดไขมันชนิดไม่ดีได้ง่ายขึ้น โดยการฉีดยาในกลุ่ม PCSK9 Inhibitors ทุก ๆ 2 สัปดาห์

ยาในกลุ่ม PCSK9 Inhibitors มีดังนี้

  • Alirocumab
  • Evolocumab

ผลข้างเคียง อาจเกิดอาการปวด อาการบวม และรอยช้ำในบริเวณที่ฉีดยา นอกจากนี้ เนื่องจากยาในกลุ่ม PCSK9 Inhibitors เป็นยาชนิดใหม่ จึงควรระมัดระวังและทำความเข้าใจการใช้งานยาอย่างละเอียดก่อนการใช้งาน

ไนอาซิน (Niacin)

เป็นวิตามินบีที่ช่วยจำกัดการผลิตไขมันในเลือด และช่วยลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี พร้อมเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดีขึ้นมาแทนได้ ตัวยาที่แพทย์เลือกใช้ในกลุ่มยาไนอาซินนั้น มีดังนี้

  • Niacor
  • Niaspan

ผลข้างเคียง : ไนอาซินอาจทำให้คุณมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ และสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น

คำแนะนำระหว่างการใช้ ยาลดไขมันในเลือด

สิ่งที่ควรรู้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาลดไขมันในเลือด มีดังนี้

  • ควรรับประทานยาลดไขมันในเลือด ในเวลาเดียวกันทุกวัน อย่าหยุดยา หรือเปลี่ยนชนิดยาโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากคุณหมอ
  • แยกยาแต่ละชนิดในกล่องเก็บยา พร้อมระบุประเภทยา และจำนวนเม็ดยาที่ควรกินให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการรับประทานยาผิด
  • ในขณะที่ใช้ยาลดไขมันในเลือด ไม่ควรซื้อยาชนิดอื่นมาใช้เอง ควรปรึกษาคุณหมอเสียก่อน
  • กรณีลืมรับประทานยา ควรใช้ยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้กับใช้ยาครั้งถัดไป ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมกับยา

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cholesterol Medications. https://www.heart.org/en/health-topics/cholesterol/prevention-and-treatment-of-high-cholesterol-hyperlipidemia/cholesterol-medications . Accessed June 24, 2021

Which Medicines Lower ‘Bad’ (LDL) Cholesterol?. https://www.webmd.com/cholesterol-management/guide/cholesterol-lowering-medication . Accessed June 24, 2021

Is it possible to lower cholesterol quickly?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/how-to-lower-cholesterol-quickly . Accessed June 24, 2021

Triglycerides: Why do they matter?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-cholesterol/in-depth/triglycerides/art-20048186 . Accessed June 24, 2021

Facts about saturated fats. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000838.htm . Accessed June 24, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/09/2021

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารลดคอเลสเตอรอล อะไรที่ควรต้องกิน

ระวัง! เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มมากไป เสี่ยง คอเลสเตอรอล สูง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/09/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา