Atherosclerosis คือ ภาวะหลอดเลือดแข็ง ที่อาจเกิดขึ้นจากการสะสมของไขมัน คอเลสเตอรอล และคราบพลัคที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ที่ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้
Atherosclerosis คือ
Atherosclerosis คือ ภาวะหลอดเลือดแข็งที่มาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ภาวะดื้ออินซูลิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคลูปัส โรคสะเก็ดเงิน และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผนังด้านในหลอดเลือดเสียหาย ทำให้เซลล์เม็ดเลือดจับตัวเป็นก้อน หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดคราบพลัคบนผนังหลอดเลือดหนาขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบตันและทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนขวางการไหลเวียนของเลือดที่มีออกซิเจนนำไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายน้อยลง ทำให้ร่างกาย หรือระบบต่าง ๆ อาจมีการทำงานผิดปกติ อีกทั้งคราบพลัคยังอาจสามารถแตกตัวออกจนทำให้เกิดลิ่มเลือดได้
อาการของ Atherosclerosis
อาการของ Atherosclerosis อาจไม่เผยสัญญาณเตือนใด ๆ จนกว่าคราบพลัคจะก่อตัวหนาในผนังหลอดเลือด หรือจนกว่าเส้นเลือดจะตีบ เมื่อเส้นเลือดเริ่มตีบตัว อาจปรากฏอาการต่าง ๆ ดังนี้
- หลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง อาจทำให้เจ็บ หรือแน่นหน้าอก
- หลอดเลือดแดงที่เชื่อมโยงกับสมองแข็ง อาจทำให้พูดสื่อสารลำบาก ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง
- หลอดเลือดแดงที่เชื่อมโยงกับไต อาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูง และไตวายได้หลอดเลือดแดงบริเวณแขน และขาแข็ง อาจทำให้มีอาการปวดขาขณะเดินหรือเคลื่อนไหว
ภาวะแทรกซ้อนของ Atherosclerosis
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแข็ง มีดังนี้
- โรคหลอดเลือดหัวใจ อาจเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่อยู่ใกล้กับหัวใจตีบ จนส่งให้เจ็บหน้าอก และนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว
- โรคหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid Artery Disease) หลอดเลือดแดงคาโรติดเป็นหลอดเลือดที่เชื่อมกับสมอง หากหลอดเลือดแข็งตัว อาจทำให้สมองขาดเลือดชั่วคราว และเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หลอดเลือดแดงส่วนปลายคือหลอดเลือดที่อยู่บริเวณแขน และขา หากหลอดเลือดส่วนนี้แข็งตีบอาจทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่เย็น และเนื้อเยื่อส่วนนี้อาจเน่าตายได้
- โรคหลอดเลือดโป่งพอง เป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดทุกส่วนในร่างกาย ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหลอดเลือด
- โรคไตเรื้อรัง หากหลอดเลือดแดงที่เชื่อมโยงกับไตตีบ อาจส่งผลให้ออกซิเจนในเลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงไตได้ ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง
การรักษา Atherosclerosis
การรักษาโรคหลอดเลือดแข็ง มีดังนี้
- ยากลุ่มแสตติน (Statin) และยาลดคอเลสเตอรอล ที่อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลไลโพโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (LDL) และฟื้นฟูสุขภาพหลอดเลือดแดง อีกทั้งยังอาจช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล ผู้ป่วยบางคนอาจจำเป็นต้องรับประทานยากลุ่มนี้มากกว่า 1 ชนิด
- ยาลดความดันโลหิต คุณหมออาจกำหนดให้ผู้ป่วยบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคไต ภาวะหัวใจวาย
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด คือยาที่คุณหมออาจแนะนำ หรือกำหนดให้ใช้เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อนอุดตันภายในหลอดเลือดแดง
- ยาชนิดอื่น ๆ เพื่อควบคุมอาการของโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยเป็นคุณหมออาจต้องกำหนดยาที่เหมาสมตามอาการร่วม
- การผ่าตัดใส่บอลลูน ส่วนใหญ่การผ่าตัดอาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยคุณหมอจะสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงบริเวณที่ตีบตัน และใส่สายสวนเส้นที่ 2 พร้อมกับบอลลูนที่ไว้ใช้ขยายหลอดเลือดไปยังบริเวณอุดตัน
- การผ่าตัดบายพาส คุณหมออาจนำหลอดเลือดที่แข็งแรง จากขา หรือบริเวณหน้าอกมาสร้างทางเดินเลือดใหม่รอบ ๆ หลอดเลือดที่อุดตัน เพื่อเปลี่ยนเส้นทางการไหลเวียนของเลือด
- การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ เป็นการผ่าตัดเพื่อขจัดคราบพลัคในหลอดเลือดออก ซึ่งอาจช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
การป้องกัน Atherosclerosis
ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังต่อไปนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด อาหารที่มีโซเดียมต่ำ หรืออาจเปลี่ยนรับประทานขนมปังโฮลเกรน แทนขนมปังขาว
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำหนัก และคอเลสเตอรอล เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต โรคหัวใจ
- จัดการกับความเครียด ผ่อนคลายความเครียด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ หรือกิจกรรมที่ชอบ
- หยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจสร้างความเสียหายให้แก่หลอดเลือดแดง
[embed-health-tool-heart-rate]