backup og meta

CHF คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว ปัจจัยเสี่ยงและอาการที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/06/2023

    CHF คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว ปัจจัยเสี่ยงและอาการที่ควรรู้

    CHF คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจทำงานผิดปกติ โดยหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ดีพอที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารตามปกติ ส่งผลให้เลือดและของเหลวสะสมในปอดและบริเวณขา ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ออก ไม่อยากอาหาร นอกจากนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวนี้อาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพดีเพื่อลดความเสี่ยงการเกิด CHF

    CHF คือ อะไร

    CHF หรือ Congestive Heart Failure คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงตามอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอตามความต้องการของร่างกาย เมื่อมีภาวะ CHF ไม่ได้หมายความว่าหัวใจกำลังจะหยุดทำงานหรือหยุดเต้น แต่หากร่างกายไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และหากมีภาวะหัวใจล้มเหลวแม้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวซีกซ้ายเป็นเวลานานหลายปี ก็อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวซีกขวาได้เช่นกัน

    นอกจากนี้ ภาวะ CHF ก็อาจทำให้เลือดไปสะสมอยู่ตามบริเวณอวัยวะอื่น ๆ เช่น ของเหลวสะสมอยู่ในปอดจนทำให้เกิดอาการหายใจถี่รัว ของเหลวสะสมอยู่ในขาและเท้าจนบวม

    สาเหตุของ CHF คืออะไร

    โรคหัวใจและปัญหาสุขภาพเรื้อรังอาจทำให้หัวใจอ่อนแอจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อส่งไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยมีปัจจัยต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด CHF ได้

    • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia)
    • โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy)
    • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
    • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease หรือ CAD)
    • เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis)
    • หัวใจวาย (Heart Attack)
    • โรคลิ้นหัวใจ (Valve Heart Disease)
    • ภาวะความดันโลหิตสูง
    • ลิ่มเลือดในปอด
    • โรคเบาหวาน
    • โรคอ้วน
    • โรคปอดรุนแรงบางชนิด เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

    ปัจจัยเสี่ยงของ CHF คืออะไร

    โดยทั่วไป โอกาสเสี่ยงเกิด CHF จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง โดยผู้ชายจะเริ่มต้นมีความเสี่ยงในช่วงอายุที่น้อยกว่าผู้หญิง เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยเสริมสร้างให้หลอดเลือดแข็งแรง ในขณะที่ผู้หญิงก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือนเนื่องจากรังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนเพศหญิง

    ทั้งนี้ นอกจากอายุแล้ว ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิด CHF ได้แก่

    • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือภาวะ CHF มาก่อน
    • มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สร้างความเสียหายให้หัวใจ เช่น สูบบุหรี่ กินอาหารที่มีไขมัน โซเดียมสูงเป็นประจำ ไม่ค่อยขยับร่างกายและอยู่เฉย ๆ หลายชั่วโมง/วัน ใช้ยาเสพติด เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
    • มีโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคปอดขั้นรุนแรง การติดเชื้อเอชไอวี เชื้อโควิด-19 โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคโลหิตจาง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การรักษามะเร็งด้วยคีโมหรือฉายรังสี

    อาการของ CHF คือ อะไรบ้าง

    อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย CHF มีดังนี้

    • หายใจถี่รัว
    • ตื่นขึ้นมากลางดึกด้วยอาการหายใจลำบาก
    • เจ็บหน้าอก
    • ใจสั่น
    • เหนื่อยง่ายเมื่อทำกิจกรรมที่ปกติแล้วทำได้โดยไม่เหนื่อย
    • น้ำหนักขึ้น
    • ปวดปัสสาวะกลางดึก
    • ไอแห้ง
    • ท้องแข็ง ท้องอืด
    • คลื่นไส้
    • ปวดท้อง
    • ไม่อยากอาหาร

    วิธีป้องกัน CHF คืออะไร

    การดูแลสุขภาพตัวเองอย่างเหมาะสม อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิด CHF ได้ โดยอาจลองปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

    • งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง 
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที ด้วยกิจกรรมหรือกีฬาที่ชอบ เช่น ทำสวน เล่นเทนนิส เล่นแบดมินตัน ปั่นจักรยาน 
    • กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลายและ ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่กินอาหารซ้ำ ๆ จำเจ เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารและได้รับสารพิษที่อาจปนเปื้อนจากแหล่งเดิมซ้ำ ๆ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนไม่ติดไขมันหรือส่วนหนัง
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง เช่น อาหารจานด่วน อาหารแปรรูป น้ำอัดลม เมนูปิ้งย่าง
    • นอนหลับพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
    • งดดื่มเครื่องแอลกอฮอล์หรือดื่มแต่น้อย สำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน 2 แก้ว/วัน และสำหรับผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 แก้ว/วัน
    • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หรือเข้าคัดกรองความเสี่ยงโรคต่าง ๆ หากมีโรคประจำตัว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด และไปตามนัดหมายเป็นประจำ
    • สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน ควรควบคุมน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา