backup og meta

Congestive heart failure คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    Congestive heart failure คืออะไร มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไร

    Congestive heart failure (ภาวะหัวใจล้มเหลว) คือ ภาวะที่หัวใจอาจหยุดการทำงานลง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ ที่อาจส่งผลให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหยุดทำงานและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หากสังเกตว่ามีอาการหายใจถี่ หัวใจเต้นผิดปกติ และหัวใจวายบ่อยครั้ง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ที่สามารถทำได้ทั้งรับประทานยาตามอาการหรือเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจและหลอดเลือด

    Congestive heart failure คืออะไร

    Congestive heart failure คือ คำทางการแพทย์ที่ใช้เรียกผู้ป่วยที่เป็นภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดหรือสูบฉีดเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนไม่เพียงพอไปหล่อเลี้ยงหัวใจรวมถึงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้มีการสะสมของเหลวในปอดและการทำงานของอวัยวะนั้นหยุดลงและนำไปสู่การเสียชีวิตได้

    ภาวะหัวใจล้มเหลว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

    • หัวใจล้มเหลวด้านซ้าย เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดได้หรือเกิดจากผนังหัวใจหนาและแข็งตัวทำให้ไม่อาจบีบและคลายตัวเพื่อสูบฉีดเลือดได้เต็มที่ 
    • หัวใจล้มเหลวด้านขวา เป็นประเภทที่หัวใจอ่อนแอเกินกว่าจะสูบฉีดเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปยังปอดและส่งกลับเข้าสู่หัวใจ หลอดเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

    สาเหตุของ Congestive heart failure 

    สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว อาจมีดังนี้

    • มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือภาวะหัวใจวาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงภาวะหัวใจวาย มักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้หัวใจล้มเหลว โยอาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากไขมันอุดตันในหลอดเลือดทำให้ขวางการไหลเวียนของเลือดจนนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันและหัวใจล้มเหลวได้
    • ความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้หัวใจทำงานหนักกว่าปกติ ส่งผลให้หัวใจเสื่อมสภาพเร็วและอ่อนแรงเกินกว่าจะสูบฉีดเลือด จึงนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
    • การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และปรสิต ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไม่สามารถบีบและหดตัวเพื่อสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความเสี่ยงให้หัวใจล้มเหลวได้
    • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากหัวใจเต้นเร็วจนเกินไปอาจส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก หัวใจเสื่อมสภาพลดประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือด  อีกทั้งหัวใจที่เต้นช้าก็อาจส่งผลให้สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้มีดีเท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจล้มเหลว
    • ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หากลิ้นหัวใจมีการทำงานที่ผิดปกติ เมื่อเวลาผ่านไปอาจส่งให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและอ่อนแอลงจนนำสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
    • ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยารักษาเบาหวาน ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคมะเร็ง ยาต้านซึมเศร้า อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจที่นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
    • โรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคเอชไอวี โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาจมีส่วนทำให้หัวใจล้มเหลว
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษ ทำลายหลอดเลือดและหลอดเลือดตีบตัน จนเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

    อาการของ Congestive heart failure คือ

    อาการของภาวะหัวใจวาย คือ อาการที่แสดงออกต่อเมื่อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดลดลง ที่อาจสังเกตได้ดังนี้

    • หายใจถี่โดยเฉพาะเมื่อนอนราบ
    • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • เจ็บหน้าอก
    • รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย
    • วิงเวียนศีรษะและเป็นลม
    • ความสามารถในการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง เนื่องจากหายใจไม่สะดวก
    • อาการไอต่อเนื่อง ไอแบบมีเสมหะปนเลือด หรือหายใจมีเสียงหวีด
    • มีน้ำในช่องท้องที่ส่งผลให้ท้องบวม
    • เท้าและขาบวม
    • คลื่นไส้และรู้สึกเบื่ออาหาร

    ควรพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากหัวใจเต้นเร็วร่วมกับมีอาการเจ็บหน้าอก เป็นลมบ่อยครั้ง อาการไอรุนแรงและไอเป็นเลือด เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ชัดเจนโดยคุณหมออาจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจเลือด  ตรวจเนื้อเยื่อของหัวใจ หรือถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก และเข้ารับการรักษาทันที เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย ลิ้นหัวใจรั่ว ตับอักเสบ

    การรักษา Congestive heart failure 

    การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว อาจมีดังนี้

    ยา

    • สารยับยั้งเอนไซม์เอซีอี (Angiotensin-converting enzyme inhibitors : ACE) เช่น อีนาลาพริล (Enalapril) ลิซิโนพริล (Lisinopril) แคปโตพริล (Captopril) เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
    • กลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blockers) เช่น คาร์วีไดลอล (Carvedilol) เมโทโพรลอล (Metoprolol) ไบโซโปรลอล (Bisoprolol) เพื่อช่วยลดความดันโลหิตและช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจสำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นเร็ว
    • ยาขับปัสสาวะ ใช้เพื่อช่วยขับของเหลวออกจากร่างกายให้ออกมาในรูปแบบปัสสาวะ ช่วยลดการสะสมของเหลวในปอด ทำให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น 
    • ไดจอกซิน (Digoxin) ใช้เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหัวใจให้หดตัวหรือคลายตัวในการสูบฉีดเลือด และอาจช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง
    • ฉีดยาผ่านหลอดเลือด คุณหมออาจฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดโดยตรงสำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวระดับรุนแรง เพื่อช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือด
    • ยาไฮดราลาซีนและไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรท (Hydralazine and Isosorbide Dinitrate) ใช้เพื่อช่วยผ่อนคลายหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวระดับรุนแรง และเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดหรือใช้สารยับยั้งเอนไซม์เอซีอี

    การทำหัตถการและการผ่าตัด

    • การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ หากผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดอุดตันระดับรุนแรงที่เป็นสาเหตุอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว คุณหมออาจทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
    • เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าแบบฝัง โดยคุณหมอจะฝังอุปกรณ์ไว้ใต้ผิวหนังหน้าอกโดยมีสายไฟผ่านเส้นเลือดไปยังหัวใจ เพื่อช่วยตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ หากหัวใจเต้นผิดปกติอุปกรณ์นี้จะปล่อยไฟฟ้าเพื่อควบคุมให้การเต้นของหัวใจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจล้มเหลว
    • ซิงโครไนซ์หัวใจ (CRT) เป็นการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวผู้ที่มีหัวใจห้องล่างทำงานไม่ประสานกัน โดยใส่อุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อช่วยให้การทำงานของหัวใจนั้นสัมพันธ์ละทำให้สูบฉีดเลือดได้ดี
    • เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด (Ventricular Assist Device หรือ VAD) เพื่อช่วยสูบฉีดเลือดจากห้องล่างหัวใจไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เป็นการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว โดยปกติมักจะใส่ไว้ในห้องหัวใจด้านซ้ายห้องล่างหรือทั้ง 2 ห้อง ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
    • การปลูกถ่ายหัวใจ เหมาะสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวระดับรุนแรง ที่ไม่ตอบสนองต่อการผ่าตัดและการใช้ยา ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนหัวใจของผู้บริจาคที่มีหัวใจแข็งแรง อย่างไรก็ตามการรักษาหัวใจล้มเหลวด้วยวิธีนี้อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา