backup og meta

ระบบหัวใจคืออะไร และทำงานอย่างไร

ระบบหัวใจคืออะไร และทำงานอย่างไร

ระบบหัวใจ ทำหน้าที่ขนส่งอาหารและออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อและเซลล์จำนวนมาก จากนั้นนำเลือดเสียจากร่างกายกลับสู่ปอดเพื่อฟอกเลือด หากระบบหัวใจทำงานผิดปกติ อาจส่งผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย ความดันสูง

ความสำคัญของหัวใจ

หัวใจมีความสำคัญในการสูบฉีดเลือดผ่านหลอดเลือด ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย ภายในเลือดประกอบไปด้วยสารอาหารและออกซิเจนที่ใช้ในการหล่อเลี้ยงเซลล์จำนวนมาก หากไม่มีเลือดและหัวใจช่วยสูบฉีดเลือด จะส่งผลให้เซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ การทำงานจะเริ่มผิดปกติ หยุดการทำงาน และอาจเสียชีวิตในที่สุด

ส่วนประกอบของระบบหัวใจ

ระบบการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดเป็นส่วนหนึ่งของระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งประกอบด้วย

  • หัวใจ เป็นกล้ามเนื้อที่คอยสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในทิศทางเดียว เนื่องจากมีลิ้นหัวใจคอยป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ หัวใจประกอบด้วย 4 ห้อง โดย 2 ห้องบนทั้งซ้ายและขวา เรียกว่า “เอเรีย (Atria)” และ 2 ห้องล่างทั้งซ้ายและขวา เรียกว่า “เวนทริเคิล (Ventricles)”
  • หลอดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนไหลผ่านระหว่างหัวใจและปอด เพื่อส่งอาหารและออกซิเจนออกไปเลี้ยงร่างกาย
  • หลอดเลือดดำ ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดเสียเพื่อนำไปฟอกรับออกซิเจนที่ปอด เพื่อส่งกลับมายังหัวใจและส่งต่อไปเลี้ยงร่างกาย
  • เส้นเลือดฝอย เป็นเส้นเลือดขนาดเล็กทำหน้าที่รับเลือดจากเส้นเลือดแดง เพื่อส่งต่อไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย
  • ลิ้นหัวใจ ทำหน้าที่กั้นเปิดปิดระหว่างห้องหัวใจ และป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ ลิ้นหัวใจประกอบด้วย ลิ้นหัวใจกั้นระหว่างหัวใจห้องบนขวาและห้องล่างขวา (Tricuspid Valve) ลิ้นหัวใจกั้นระหว่างห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย (Mitral Valve) ลิ้นหัวใจกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างขวาและหลอดเลือดปอด (Pulmonic Valve) ลิ้นหัวใจกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic Valve)

การทำงานของระบบหัวใจ

หัวใจทำงานเหมือนปั๊มสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะ เนื้อเยื่อ และเซลล์ภายในร่างกาย โดยเลือดเสียจากร่างกายที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จะเข้าสู่หัวใจเริ่มที่ห้องบนด้านขวา เอเทรียม (Atrium) จากนั้นจะถูกบีบลงไปที่ห้องล่างขวา เวนทริเคิล (Ventricle) เพื่อนำเลือดไปฟอกที่ปอดและรับออกซิเจน จากนั้นเลือดที่เต็มไปด้วยออกซิเจนจะถูกลำเลียงไปยังหัวใจห้องบนซ้าย เอเทรียม (Atrium) และถูกสูบลงไปที่ห้องล่างซ้าย เวนทริเคิล (Ventricle) เพื่อส่งต่ออาหารและออกซิเจนผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ ไปยังเส้นเลือดฝอยเพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์จำนวนมากในร่างกายต่อไป ซึ่งระบบหัวใจจะทำงานวนเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ

การเต้นของหัวใจในแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นจากสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างขึ้นจาก ตัวคุมจังหวะหัวใจ (Sinoatrial node หรือ SA node) ที่เป็นกลุ่มของเซลล์ที่อยู่บนผนังหัวใจของหัวใจห้องบนขวา ส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาทและกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจให้หดตัว ส่งผลให้เลือดเคลื่อนไหว การหดตัวของห้องหัวใจและการเคลื่อนไหวของเลือดทำให้เกิดเสียงหัวใจเต้น และเสียงชีพจรที่ข้อมือและคอ

โรคของระบบหัวใจที่พบบ่อย

โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจส่งผลเสียรุนแรงต่อสุขภาพร่างกายและอาจถึงแก่ชีวิตได้ โรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบบ่อย มีดังนี้

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น  ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง หัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจ หรือมีประวัติภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจทำให้มีอาการ ดังนี้

  •  วิงเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก หายใจถี่
  • หัวใจเต้นช้าหรือเร็วเกินไป หรือเต้นไม่เป็นจังหวะปกติ
  •  เหงื่อออกมาก เป็นลม

หัวใจล้มเหลว

เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเคยมีประวัติภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งอาจทำให้มีอาการ ดังนี้

  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้
  • เหนื่อยล้า หายใจถี่
  • ไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงหวีด
  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น

หัวใจวาย

หัวใจวายเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนไม่ได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการฉีกขาดของเส้นเลือดแดง การอุดตันของเส้นเลือด หรือหัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดหัวใจวาย เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และการสูบบุหรี่ และสัญญาณของหัวใจวาย ได้แก่

  • อ่อนเพลีย หายใจถี่
  • เจ็บหน้าอก
  • ปวดกราม คอ หรือหลัง
  • ปวดแขนหรือไหล่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง

โรคหลอดเลือดสมอง

เกิดจากเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองได้ เมื่อสมองขาดเลือดเป็นเวลานานจึงทำให้เซลล์ในสมองตายลง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันทำให้ส่งเลือดไปยังสมองไม่ได้
  • โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) เกิดจากเส้นเลือดฉีกขาดจึงทำให้เลือดออกในสมอง

ปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคเบาหวาน ความโลหิตสูง โรคหัวใจ การสูบบุหรี่ และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ อาจแสดงอาการ ดังนี้

  • วิงเวียนศีรษะ และร่างกายสูญเสียความสมดุล
  • ปวดหัวรุนแรง
  • แขน ขา หรือใบหน้าอ่อนแรง อาจทำให้พูดลำบาก
  • มีปัญหาการมองเห็น

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก หรือออกกำลังกาย อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ นอกจากนี้ หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ และกล้ามเนื้อหัวใจของผู้สูงอายุอาจมีประสิทธิภาพลดลงจนเกิดความฝืด ซึ่งอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจวาย ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง

การดูแลหัวใจให้แข็งแรง

การดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • การออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อรักษาน้ำหนักตามมาตรฐาน
  • งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ
  • หากมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรบอกคุณหมอเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของตนเองและครอบครัวเพื่อประกอบการวินิจฉัย

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Introduction to the Cardiovascular System. https://training.seer.cancer.gov/anatomy/cardiovascular/. Accessed September 22, 2021

Heart and Circulatory System. https://kidshealth.org/en/teens/heart.html. Accessed September 22, 2021

Circulatory system. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/circulatory-system#blood. Accessed September 22, 2021

Anatomy of the Heart and Cardiovascular System. https://www.texasheart.org/heart-health/heart-information-center/topics/anatomy-of-the-heart-and-cardiovascular-system/. Accessed September 22, 2021

Cardiovascular System. https://aci.health.nsw.gov.au/networks/icnsw/patients-and-families/patient-conditions/cardiovascular-system. Accessed September 22, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวใจเต้นเร็ว วิธีแก้ และสาเหตุที่ควรรู้

9 อาการโรคหัวใจ ระยะแรก และวิธีป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์สุรพงษ์ หล่อสมฤดี

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป · คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา