backup og meta

ความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension)

ความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension)

ภาวะที่ความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย เรียกว่า ภาวะ ความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension) ซึ่งหากไม่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ก็มักพัฒนาเป็นโรคความดันโลหิตสูง (hypertension) ในภายหลัง

คำจำกัดความ

ความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension) คืออะไร

ภาวะที่ความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย เรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension) ซึ่งหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายให้มากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็มักจะกลายเป็นโรคความดันโลหิตสูง (hypertension) ในภายหลัง ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น และโรคความดันโลหิตสูงนั้น อาจสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือที่มักเรียกกันว่า ภาวะหัวใจวาย (heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) ได้

ค่าระดับความดันโลหิตนั้นมีสองตัวเลข คือ ตัวเลขด้านบนและตัวเลขด้านล่าง โดยเลขตัวบนหมายถึง ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว (systolic pressure) ส่วนเลขตัวล่างคือ ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจ (diastolic pressure) ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นจะมีค่าความดันโลหิตตัวบนอยู่ระหว่าง 120-139 มม.ปรอท หรือมีค่าความดันโลหิตตัวล่างอยู่ที่ 80-89 มม.ปรอท

ความดันโลหิตสูงขั้นต้น พบบ่อยแค่ไหน

จากค่าเฉลี่ยของการวัดความดันโลหิตตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป เมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อนพบหมอตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มักมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง คุณอาจคิดว่าโรคความดันโลหิตสูงมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะคนทุกวัยสามารถมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้

อาการ

อาการของ ความดันโลหิตสูงขั้นต้น

ทั้งภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น และโรคความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ ฉะนั้น วิธีเดียวที่จะบ่งชี้ว่าคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น ก็คือ การติดตามอ่านค่าความดันโลหิตของคุณเอง ด้วยการวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่ไปพบหมอ หรือคุณสามารถวัดความดันโลหิตที่บ้าน ได้ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจความดันโลหิตอย่างน้อยทุก ๆ สองปี คุณอาจจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตถี่ขึ้น หากคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

สาเหตุ

สาเหตุของความดันโลหิตสูงขั้นต้น

ปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่เพิ่มแรงดันให้กับผนังหลอดเลือดแดงล้วนสามารถนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้ทั้งสิ้น ในบางครั้งโรคแฝงต่าง ๆ ก็สามารถทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน โรคที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือโรคความดันโลหิตสูง มีดังนี้

ยารักษาโรคบางชนิด ทั้งที่เป็นยาตามใบสั่งแพทย์และยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด รวมถึงยาเสพติด เช่น โคเคน แอมเฟตามีน อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วคราวได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของความดันโลหิตสูงขั้นต้น

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น

  • มีน้ำหนักเกิน ปัจจัยเสี่ยงในขั้นต้นคือการมีภาวะน้ำหนักเกิน ยิ่งมีมวลร่างกายมากเท่าไหร่ เลือดก็ยิ่งต้องสูบฉีดเพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อในร่างกายมากขึ้นเท่านั้น เมื่อปริมาณเลือดที่หมุนเวียนผ่านเส้นเลือดเพิ่มขึ้น แรงดันที่ผนังหลอดเลือดก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
  • เป็นคนวัยหนุ่มสาว มีความเสี่ยงเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้มากกว่าผู้สูงอายุ
  • เป็นผู้ชาย ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • เป็นคนผิวสี ความดันโลหิตสูงนั้นพบมากในคนผิวสี ในช่วงวัยกลางคน คนผิวสีมักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนผิวขาว
  • คนในครอบครัวมีประวัติเกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงมักจะถ่ายทอดกันในครอบครัว หากญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง คุณก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน
  • ไม่ออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกายสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและภาวะน้ำหนักเกิน
  • รับประทานอาหารที่เค็มจัด (โซเดียมสูง) หรือมีโพแทสเซียมต่ำ โซเดียมและโพแทสเซียมคือสารอาหารสำคัญ ที่ร่างกายใช้ในการควบคุมความดันโลหิต หากคุณมีปริมาณโซเดียมมากเกินไป หรือโพแทสเซียมต่ำเกินไป คุณก็จะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • สูบบุหรี่ เแม้แต่การอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ สามารถเพิ่มโอกาสในเกิดโรคความดันโลหิตสูง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วต่อวัน สำหรับผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 65 ปี หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1 แก้วต่อวัน สำหรับผู้หญิงทุกช่วงวัยและผู้ชายที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปนั้น อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนึ่งแก้วในที่นี้เท่ากับ เบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุรา 80 พรูฟ (40 ดีกรี) 1.5 ออนซ์
  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงขั้นต้น

การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นสามารถทำได้ด้วยการตรวจวัดค่าความดันโลหิต โดยคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะใช้ปลอกแขนที่พองได้สวมที่ต้นแขนของคุณ และวัดค่าความดันโลหิต โดยใช้เครื่องวัดความดัน

การอ่านค่าความดันโลหิตที่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท) นั้น มีสองตัวเลข เลขตัวบนหมายถึง ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว (systolic pressure) เลขตัวล่างคือ ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจ (diastolic pressure)

ค่าความดันโลหิตตามปกติคือ ต่ำกว่า 120/80 มม.ปรอท โดยสามารถจัดแบ่งเกณฑ์การวัดค่าความดันได้ดังนี้

  • ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น

มีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ระหว่าง 120-139 มม.ปรอท หรือมีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 80-89 มม.ปรอท

  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1

มีค่าความดันที่หลอดเลือดแดง ขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ระหว่าง 140-159 มม.ปรอท หรือมีค่าความดันที่หลอดเลือดแดง ในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 90-99 มม.ปรอท

  • โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 2

มีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ที่ 160 มม.ปรอท หรือมากกว่านั้น หรือมีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 100 มม.ปรอท หรือมากกว่านั้น

เนื่องจากระดับความดันโลหิตค่อนข้างขึ้น ๆ ลง ๆ การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น จึงขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยของการอ่านค่าความดันโลหิตตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป โดยใช้วิธีวัดแบบเดียวกันในเวลาต่างกัน ปกติแล้วควรวัดค่าความดันโลหิตที่แขนทั้งสองข้างเพื่อดูว่ามีความแตกต่างหรือไม่ คุณหมออาจขอให้คุณจดบันทึกค่าระดับความดันโลหิตของคุณที่ตรวจวัดที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมด้วย

การรักษาความดันโลหิตสูงขั้นต้น

ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นถือเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ขึ้นอยู่กับค่าความดันโลหิตของคุณ และปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจ คุณอาจจำเป็นต้องได่รับยาบางชนิดที่เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพคุณ พร้อมปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างตามคำแนะนำในลำดับถัดไป เพื่อให้สามารถควบคุมภาวะนี้ได้ดีขึ้น

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษาความดันโลหิตสูงขั้นต้น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลองรับประทานอาหารต้านโรคความดันโลหิตสูง (DASH diet) เลือกรับประทานผลไม้ ผัก ธัญพืช สัตว์ปีก ปลา และนมไขมันต่ำ บริโภคโพแทสเซียมให้มาก เพื่อช่วยเรื่องการลดความดันโลหิตได้ และรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ให้น้อยลง
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี คุณควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีอยู่เสมอ หากมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เพราะจะสามารถลดระดับความดันโลหิต และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้ถึง 20%
  • ลดปริมาณการบริโภคเกลือและโซเดียม อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง สามารถเพิ่มความดันโลหิตได้ ในขณะที่อาหารที่มีโซเดียมต่ำ สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ คุณจึงควรบริโภคเกลือและโซเดียมให้น้อยลง ด้วยการไม่เติมเกลือเพิ่มในอาหาร ระวังปริมาณเกลือในอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแช่แข็ง เป็นต้น โดยปริมาณที่แนะนำคือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เกลือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)
  • ออกกำลังกายให้มากขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยลดระดับความดันโลหิต ควบคุมความเครียด ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ และช่วยให้คุณสามารถควบคุมน้ำหนักได้ด้วย สำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี โดยทั่วไปแนะนำให้ออกกำลังกายแบบปานกลาง (moderate aerobic activity) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
  • จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี ผู้หญิงทุกช่วงอายุ และผู้ชายที่อายุมากกว่า 65 ปี ควรดื่มไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน ผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 65 ปี ควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน โดยปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 แก้วในทีนี้เทียบเท่ากับเบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุรา 80 พรูฟ (40 ดีกรี) 1.5 ออนซ์
  • อย่าสูบบุหรี่ บุหรี่สามารถทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย และเพิ่มความเร็วในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว หากไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ก็สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติมร่วมด้วยได้
  • จัดการกับความเครียด พยายามลดความเครียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลองทำเทคนิคการจัดการกับสุขภาพ เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หายใจเข้าลึก ๆ หรือใช้ยา การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับให้เพียงพอ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
  • ตรวจวัดค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณทราบค่าความดันโลหิตของคุณ และแจ้งให้หมอทราบ หากค่าความดันของคุณนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยคุณสามารถคอยจับตาดูค่าความดันโลหิตของคุณได้ในช่วงระหว่างที่ไม่ได้ไปพบหมอ ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบใช้ด้วยตนเองที่บ้าน

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Prehypertension. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/prehypertension/basics/definition/con-20026271. Accessed December 1, 2017.

Prehypertension: Are You at Risk? https://www.webmd.com/hypertension-high-blood-pressure/guide/prehypertension-are-you-at-risk#2. Accessed December 1, 2017.

Prehypertension: A Little Too Much Pressure, A Lot of Trouble. https://www.kidney.org/news/kidneyCare/fall10/Prehypertension#. Accessed December 1, 2017.

Prehypertension: Does it really matter?. https://www.health.harvard.edu/heart-health/prehypertension-does-it-really-matter . Accessed July 29, 2021

Prehypertension. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538313/ . Accessed July 29, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/07/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน


บทความที่เกี่ยวข้อง

เช็กกันหน่อยไหม ใครมีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง?

อาหารแดช หรือแดชไดเอท (DASH Diet) ช่วยลดความดัน และลดน้ำหนักได้ด้วย



เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/07/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา