ความดันโลหิตสูง เกิดจากการที่เลือดไหลผ่านหลอดเลือด (arteries) ในความดันที่สูงกว่าปกติ ค่าความดันเลือดมักมีค่าอยู่ที่ 140/90 หรือสูงกว่าเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยสามารถวัดได้โดยการใช้เครื่องวัดความดันที่แขน ซึ่งหากมีค่าความดันโลหิตสูงติดต่อกัน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
ความดันโลหิตสูงคืออะไร
ความดันโลหิตสูง (High blood pressure) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป เกิดจากการที่เลือดไหลผ่านหลอดเลือด (arteries) ในความดันที่สูงกว่าปกติ ค่าความดันเลือดมักมีค่า 140/90 หรือสูงกว่าเป็นเวลาหลายสัปดาห์
พบได้บ่อยเพียงใด
ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้คนทุกวัย แต่มักจะพบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมากขึ้นหลังจากอายุ 55 ปี ทั้งนี้ความดันโลหิตสูงสามารถจัดการได้โดยลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการใด ๆ และรู้สึกปกติดี คนส่วนใหญ่รู้ตัวว่ามีภาวะนี้ เมื่อไปตรวจร่างกายกับแพทย์ตามปกติ อย่างไรก็ดี อาการของความดันโลหิตสูงที่รุนแรงมาก ได้แก่ อาการปวดศีรษะมาก หรือการมองเห็นไม่ชัด
อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้เข้ารับการรักษาทันที เพราะอาการความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ เช่น สายตาพร่ามัว โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ไตวาย หัวใจล้มเหลว
สาเหตุ
สาเหตุของความดันโลหิตสูง
สาเหตุที่แน่ชัดของความดันโลหิตสูงยังคงไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังต่อไปนี้มีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง
- อายุที่มากขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือมากกว่า 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง
- การบริโภคโซเดียมในปริมาณมาก (เกลือ)
- การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- มีความเครียดมาก
- การรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมในปริมาณต่ำ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง
มีความเสี่ยงสำหรับโรคความดันโลหิตสูงหลายประการ เช่น
- มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง
- ขาดการออกกำลังกาย
- อายุ 55 ปีขึ้นไป
- เชื้อชาติ: ชาวแอฟริกันอเมริกันมีโอกาสมากกว่าที่จะเป็นความดันโลหิตสูง
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) และการหายใจผิดปกติในการนอนหลับ (sleep-disordered breathing)
- ดื่มหนัก หรือสูบบุหรี่จัด
- การใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน เช่น ยาแก้ปวดแบบไม่มีสเตียรอยด์ หรือ NSAID ตัวอย่างเช่น ยาเนพรอกเซน (naproxen) เช่น ยา Aleve หรือยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เช่น ยา Motrin หรือยา Advil หรือยา COX-2 inhibitors เช่น ยาเซเลโคซิบ (celecoxib) หรือยาเซเลเบร็กซ์ (Celebrex)
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยความดันโลหิตสูง
การตรวจวัดความดันโลหิตเพื่อหาค่าความดันโลหิตทำได้โดยการใช้เครื่องมือทางแพทย์ที่เรียกว่า เครื่องวัดความดันโลหิต (sphygmomanometer) โดยจะพันปลอกแขนที่พองลมได้ที่รอบแขนส่วนบน และบีบลมเพื่อให้มีความดันสูงกว่าค่าความดันซิสโตลิค เมื่อปล่อยลมออกจากปลอกแขน เสียงแรกจะบ่งชี้ค่าความดันซิสโตลิค (systolic blood pressure) เมื่อเสียงหายไป จะเป็นค่าความดันไดแอสโตลิค (diastolic blood pressure) หากค่าความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามและยืนยันอาการความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยบางรายอาจมีความดันโลหิตสูงเมื่ออยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น เรียกว่าเป็นความดันโลหิตสูงไวท์โค้ต (white-coat hypertension) แพทย์อาจสั่งให้วัดความดันโลหิตที่บ้าน เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว
การรักษาความดันโลหิตสูง
แพทย์จะแนะนำแผนการรักษาต่าง ๆ ตามอาการของผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักใช้วิธีเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ การใช้ยา การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และตัวช่วยอื่น ๆ
- การใช้ยา ตัวเลือกการใช้ยา ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE inhibitors ยากลุ่มแองจิโอเทนซิน ทู รีเซ็ปเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin II receptor blocker) หรือ ARB ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker) ยากลุ่มแคลเซียมแชนเนลล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) และยากลุ่มไดเร็ค เรนิน อินฮิบิเตอร์ (Direct renin inhibitor) ยาชนิดอื่นๆ สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง ได้แก่ ยากลุ่มอัลฟ่าบล้อกเกอร์ (Alpha-blocker) และยาขยายหลอดเลือด (vasodilators) แพทย์มักจะเลือกใช้ขนาดยาในปริมาณต่ำก่อน หากไม่ได้ผล สามารถเพิ่มขนาดยา หรือใช้ยาร่วมกันได้
- การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และมีกำหนดการออกกำลังกาย
- ตัวช่วยอื่นๆ การฝังเข็ม เครื่องมือตรวจความสมดุลของร่างกาย (biofeedback) การหายใจโดยใช้อุปกรณ์ช่วย (device-guided breathing) การทำสมาธิ การจัดการความเครียด และการผ่อนคลาย และการเล่นโยคะ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือความดันโลหิตสูง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคความดันโลหิตสูงได้
- อาหารที่มีประโยชน์ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ที่เป็นธัญพืชเต็มเมล็ด ผลไม้ ผัก อาหารที่มีไขมันต่ำ และเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ให้จำกัดการบริโภคโซเดียม ไขมัน และน้ำมัน
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามออกกำลังกายที่ใช้แรงทุกวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน
- มองโลกในแง่ดี เพื่อขจัดความเครียด
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ อาจต้องวัดค่าความดันโลหิตที่บ้าน และเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเป็นประจำ การตรวจร่างกายอย่างเต็มรูปแบบสามารถช่วยระบุความเสี่ยงได้โดยเร็วและแม่นยำ
หากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุด