backup og meta

เรื่องน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับ หัวใจ มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์ · โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    เรื่องน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับ หัวใจ มีอะไรบ้าง

    หัวใจ เป็นอวัยวะหลักที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดและส่งธาตุอาหารกับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตลอดเวลา แม้ว่าหัวใจจะเป็นอวัยวะที่ทุกคนรู้จักกันดี  แต่มีข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับหัวใจที่อาจไม่ทราบกัน เช่น หัวใจของผู้ชายมีขนาดใหญ่กว่าของผู้หญิง หัวใจสามารถเต้นได้แม้ถูกนำออกมาจากร่างกาย การมีความเครียดอย่างรุนแรงจนเกิดใจสลายอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ หัวใจเต้นได้ด้วยกระแสไฟฟ้าในตัวเอง

    เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ หัวใจ

    หัวใจ เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือด เพื่อขนส่งออกซิเจนและธาตุอาหารไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและช่วยให้การทำงานของระบบภายในร่างกายเป็นปกติ

    เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับหัวใจมีดังนี้

    1. หัวใจทำงานตลอดเวลา ใน 1 วัน หัวใจสูบฉีดเลือดประมาณ 7,570 ลิตร และเต้นประมาณ 115,000 ครั้ง หัวใจของเพศหญิงเต้นเร็วกว่าหัวใจของเพศชายประมาณ 8 ครั้ง/นาที
    2. หัวใจเต้นด้วยกระแสไฟฟ้าในตัวเอง โดยไม่ต้องได้รับการสั่งการจากสมอง หากสมองตายหรือนำหัวใจออกจากร่างกาย หัวใจจึงยังเต้นต่อได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ
    3. หัวใจของผู้ชายและผู้หญิงมีขนาดไม่เท่ากัน โดยปกติแล้ว หัวใจจะมีขนาดเท่า ๆ กับกำปั้นของมนุษย์ โดยหัวใจของผู้ชายจะมีขนาดใหญ่กว่าหัวใจของผู้หญิงเล็กน้อย หรือประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และน้ำหนักของหัวใจผู้หญิงและผู้ชายจะอยู่ราว ๆ 230-280 กรัม และ 280-340 กรัม ตามลำดับ
    4. โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิต องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านคน หรือเท่า ๆ กับ 32 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในโลก ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย อยู่ที่ปีละประมาณ 37,000 คน หรือเฉลี่ย 2 คน/ชั่วโมง
    5. ใจสลายอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ภาวะหัวใจสลาย หรือ Broken Heart Syndrome ซึ่งเกิดจากความเครียดระดับรุนแรง รวมถึงสถานการณ์ที่บีบคั้นอารมณ์มาก ๆ อาจส่งผลให้ฮอร์โมนความเครียด อย่างอะดรีนาลีน (Adrenaline) พุ่งสูงขึ้นและรบกวนการทำงานของหัวใจ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตเพราะภาวะหัวใจสลายมีความเป็นไปได้ที่ต่ำมาก และอาการที่เกิดขึ้นมักคล้ายคลึงกับโรคหัวใจวาย คือเจ็บหน้าอกและหายใจลำบาก
    6. วิตามินเคอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภควิตามินเคและโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerotic Cardiovascular Disease) ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Heart Association ปี พ.ศ. 2564 นักวิจัยได้ติดตามชีวิตของชาวเดนมาร์กจำนวน 53,372 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 52-60 ปี เป็นระยะเวลา 17-22 ปี เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภควิตามินเค และโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ผู้ที่บริโภควิตามินเค 1 และ 2 ในปริมาณสูงกว่ามีความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าผู้ที่บริโภควิตามินเคในปริมาณน้อยกว่า ประมาณ 21 และ 14 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

    รักษาสุขภาพ หัวใจ ต้องทำอย่างไรบ้าง

    การดูแลสุขภาพหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

    • รับประมาณอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเค อย่างผักใบเขียวต่าง ๆ ชาเขียว ถั่วเหลือง หรือไข่ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อย่างไส้กรอก เนย ครีม เค้ก น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว เพราะยิ่งทำให้ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนเป็นปกติ และป้องกันไขมันในหลอดเลือดและความดันเลือดอยู่ในระดับที่สูงเกินไป จนเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
    • งดสูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่สามารถทำให้หลอดเลือดแคบลงหรืออุดตัน และนำไปสู่การเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแข็ง
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ เพราะอาจส่งผลให้ไขมันในหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ( Low-density lipoprotein) มีปริมาณมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

    โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา