backup og meta

ldl cholesterol คืออะไร ส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    ldl cholesterol คืออะไร ส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างไร

    ldl cholesterol (Low-Density Lipoprotein) คือ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือไขมันไม่ดี ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นเองได้ในตับ และอาจได้รับจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หากมีระดับของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกายสูง อาจเกิดการสะสมบนผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน และขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเบาหวานได้

    ldl cholesterol คืออะไร

    ldl cholesterol คือ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือไขมันไม่ดี มีลักษณะเป็นสารคล้ายขึ้ผึ้ง ที่พบได้ในเซลล์ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นเองได้ในตับ นอกจากนี้ ไขมันไม่ดียังอาจอยู่ในอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง อาหารทอด ขนมหวาน และยิ่งหากมีพฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย ก็อาจส่งผลเพิ่มปริมาณไขมันไม่ดีจนส่งผลให้ไขมันสะสมบนผนังหลอดเลือด เสี่ยงเป็นภาวะคอเลสเตอรอลสูงและหลอดเลือดตีบอุดตัน เพราะปกติแล้วการเคลื่อนไหวหรือการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายดึงไขมันมาเปลี่ยนเป็นพลังงานทำให้ลดการสะสมของไขมันไม่ดีได้

    ldl cholesterol ส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างไร

    หากร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสูง อาจเกิดคราบจุลินทรีย์เกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตัน จนส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่าง ๆ ได้น้อยลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้

    • โรคหลอดเลือดหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ
    • หัวใจวาย
    • โรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคอ้วน
    • โรคเบาหวาน

    หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก ไม่มีสมาธิ สมองเสื่อม ขาแขนชา จังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจกับคุณหมอทันที

    การตรวจหา ldl cholesterol ภายในร่างกาย

    ควรตรวจระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำด้วย เครื่องตรวจวัดไขมันในเลือด หากพบว่ามีระดับสูงเกินกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็อาจมีความเสี่ยงว่า มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสะสมในปริมาณสูง ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเกิดส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แต่หากร่างกายมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจหมายถึงคอเลสเตอรอลอยู่ในระดับปกติ และควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ

    นอกจากนี้ ยังสามารถเข้ารับการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดกับคุณหมอได้ด้วยการเจาะเลือด ซึ่งอาจทำให้รู้ถึงปริมาณคอเลสเตอรอลโดยรวม ปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)

    วิธีการลด ldl cholesterol

    วิธีลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี อาจทำได้ ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

    ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว ไขมันดี เช่น วอลนัท แอปเปิ้ล ลูกพรุน ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน น้ำมันมะกอก กะหล่ำ ข้าวโอ๊ต และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ และไขมันอิ่มตัวสูง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนย ชีส ของทอด น้ำอัดลม คุกกี้ เค้ก น้ำมันพืช ข้าวโพดคั่ว เยลลี่

    • ออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น และช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ซิทอัพ หรืออาจเพิ่มการเคลื่อนไหวในระหว่างวันมากขึ้น เช่น เดินไปซื้อของ เดินขึ้น-ลงบันได ทำงานบ้าน เพื่อให้ร่างกายมีการเผาผลาญที่ดีขึ้น และช่วยลดคอเลสเตอรอล

    • เลิกสูบบุหรี่

    การเลิกสูบบุหรี่อาจช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกายได้ดีขึ้น และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ หรือปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง

    • เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง ดังนั้น จึงควรจำกัดปริมาณการดื่ม โดยอาจดื่มได้วันละ 1 แก้ว สำหรับผู้หญิง และ 2 แก้ว สำหรับผู้ชาย

    • รับประทานยา

    การรับประทานยา เช่น ยาสแตติน (Statins) อีเซทิไมบ์ (Ezetimibe) อาจช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น และอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหารได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนการรับประทานยาลดคอเลสเตอรอล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา