backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/09/2020

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) หรือภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ เกิดขึ้นจากการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน ทำให้มือเกิดอาการเหน็บชา หรืออ่อนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อการขยับของมือและแขนได้

คำจำกัดความ

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ คืออะไร

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) หรือภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ เกิดขึ้นจากการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) เส้นประสาทบนฝ่ามือ ที่ทำให้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งหนึ่งสามารถรับความรู้สึกได้ เมื่อเส้นประสาทมีเดียนนี้ถูกกดทับ จะทำให้มือเกิดอาการเหน็บชา หรืออ่อนแรง และอาจส่งผลกระทบต่อการขยับของมือและแขนได้

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้นจัดได้ว่า เป็นอาการกดทับเส้นประสาทที่พบได้มากที่สุด โดยสามารถพบได้มากถึง 90% ของอาการกดทับเส้นประสาททั้งหมด

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือพบบ่อยแค่ไหน

กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้นสามารถพบได้ประมาณ 3.8% จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมักจะพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจะพบได้บ่อยในกลุ่มของผู้สูงอายุ 40-60 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่านั้นเช่นกัน

อาการ

อาการของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

  • รู้สึกแสบร้อน เหน็บชา หรืออาการคันในบริเวณฝ่ามือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง
  • มือไม้อ่อน ไม่สามารถจับของได้อย่างถนัด
  • รู้สึกไม่มีแรงที่มือ
  • นิ้วกระตุก
  • รู้สึกซ่าตามข้อมือขึ้นไปจนถึงแขน
  • ในช่วงแรกๆ คุณอาจจะรู้สึกว่ามีอาการมือชา อ่อนแรง หรือเป็นเหน็บ ทำให้เคลื่อนไหวมือได้ลำบากมากขึ้น เมื่ออาการรุนแรงขึ้น อาจทำให้สูญเสียแรงจับเพราะกล้ามเนื้อมือหดตัว นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดและตะคริวที่มืออีกด้วย

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    หากคุณสังเกตพบว่า อาการของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือนั้นเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ทำให้ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวมือได้ตามใจชอบ หรือมีอาการปวดที่รบกวนการนอนหลับของคุณ ควรรีบปรึกษาแพทย์ในทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาจทำให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อเสียหายอย่างถาวรได้

    สาเหตุ

    สาเหตุของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

    กลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • การเคลื่อนไหวซ้ำๆ เช่น การพิมพ์งาน การจับมือถือ หรือการเล่นเปียโน ที่ทำให้ข้อมือของคุณเคลื่อนไหวในลักษณะเดิมซ้ำๆ
    • สภาวะต่างๆ เช่น โรคอ้วน ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
    • การตั้งครรภ์

    โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

    คุณอาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือมากกว่า หากมีปัจจัยดังต่อไปนี้

    • เพศหญิง สภาวะนี้สามารถพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
    • ประวัติคนในครอบครัว หากคนในครอบครัวของคุณเคยมีอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ คุณก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้
    • สุขภาพ หากคุณมีสภาวะต่างๆ เช่น สภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นประสาท อาการอักเสบ หรือโรคอ้วน ก็อาจทำให้คุณมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ
    • งาน งานที่ต้องเคลื่อนไหวมือและข้อมือแบบเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

    แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจ Tinel sign โดยการเคาะเบาๆ ที่ข้อมือด้านข้าง เพื่อดูว่ารู้สึกเจ็บที่บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ หรือนิ้วกลางหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์ก็อาจจะทำการตรวจด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • การแสกนข้อมือ เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวน์ หรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างของกระดูกและเนื้อเยื่อในข้อมือได้อย่างชัดเจน
    • การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electromyogram) เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทในบริเวณข้อมือ
    • การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve Conduction Study) เพื่อวัดสัญญาณของเส้นประสาทที่แขนและมือของคุณ

    การรักษากลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

    การรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของโรค โดยอาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ โดยการหยุดพัก หรือลดการเคลื่อนไหวแบบซ้ำๆ ในบริเวณข้อมือ
    • ออกกำลังกาย โดยการยืดเส้น หรือเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อที่บริเวณข้อมือ เพื่อช่วยให้อาการปวดหรือเหน็บชาที่ข้อมือนั้นดีขึ้น
    • ใส่เฝือก เพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ และช่วยลดแรงกดดันไปยังเส้นประสาท การใส่เฝือกนี้อาจจะช่วยลดอาการเหน็บชา และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
    • ยา การใช้ยาลดการอักเสบ หรือยาสเตียรอยด์อาจจะช่วยลดอาการบวมที่ข้อมือได้
    • การผ่าตัด ในกรณีรุนแรง อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด เพื่อรักษาอาการเส้นประสาทกดทับ

    การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ

    การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเอง ที่อาจช่วยรับมือกลุ่มอาการเส้นประสาทกดทับข้อมือ มีดังนี้

    • หยุดพักการใช้มือ พยายามหลีกเลี่ยง และหยุดพักการใช้มือข้างที่มีปัญหา โดยเปลี่ยนไปใช้มืออีกข้างแทน หรือถ้าใช้ก็อย่าใช้นาน หลีกเลี่ยงการเกร็งมือข้างนั้นเป็นเวลานาน เช่น การเขียนหนังสือ หรือการจับเมาส์นานๆ
    • ปรับเปลี่ยนท่าทาง การอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง อาจเพิ่มแรงตึงเครียดให้เส้นประสาทและข้อมือได้ ลองปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่งและการวางมือให้เหมาะสม อาจจะช่วยลดอาการเส้นประสาทกดทับได้
    • ทำให้มืออุ่นอยู่เสมอ อากาศหนาวอาจทำให้อาการปวดข้อมือนั้นรุนแรงขึ้นได้ พยายามรักษาความอบอุ่นของบริเวณข้อมือไว้เสมอ เช่น ใส่ถุงมือ หรือสวมเสื้อแขนยาว เป็นต้น

    หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา