backup og meta

กล้ามเนื้อกระตุก อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

กล้ามเนื้อกระตุก อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

กล้ามเนื้อกระตุก (muscle Twitching) คือ อาการที่กล้ามเนื้อมัดเล็กเกิดการหดตัว มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่แล้วไม่น่ากังวลและไม่เป็นอันตรายร้ายแรง อย่างไรก็ตาม อาการกล้ามเนื้อกระตุกอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางระบบประสาท เช่น เส้นประสาทถูกกดทับ ซึ่งต้องเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

[embed-health-tool-bmr]

คำจำกัดความ

กล้ามเนื้อกระตุก คืออะไร

กล้ามเนื้อกระตุก (muscle fasciculation หรือ Muscle Twitching) เป็นอาการที่กล้ามเนื้อมัดเล็กในร่างกายเกิดการหดตัว กล้ามเนื้อสร้างขึ้นจากเส้นใยที่ควบคุมด้วยเส้นประสาท ถ้าถูกกระตุ้นหรือเกิดความเสียหายกับเส้นประสาท ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ใยกล้ามเนื้อหดตัวได้

อาการกล้ามเนื้อกระตุกโดยทั่วไป มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่น่ากังวล แต่ในบางกรณี ก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหาทางระบบประสาท ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที

กล้ามเนื้อกระตุกพบบ่อยเพียงใด

กล้ามเนื้อกระตุกพบได้ทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จัดการได้ด้วยการลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของกล้ามเนื้อกระตุก

สัญญาณและอาการที่มักพบมีดังนี้

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอทันที

  • กล้ามเนื้อกระตุกมาเป็นเวลานาน ไม่ยอมหาย
  • เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสูญเสียมวลกล้ามเนื้อร่วมด้วย

สาเหตุ

สาเหตุของกล้ามเนื้อกระตุก

สาเหตุของกล้ามเนื้อกระตุกอาจมีดังนี้

  • การออกกำลังกาย อาการกล้ามเนื้อกระตุก อาจเกิดขึ้นได้หลังการออกกำลังกาย เนื่องจากมีการสะสมตัวของกรดแลคติกในกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานระหว่างออกกำลังกายนั่นเอง ส่วนใหญ่แล้วมักส่งผลต่อแขน ขา และหลัง
  • ความเครียดและความวิตกกังวล อาการกล้ามเนื้อกระตุกที่มีสาเหตุมาจากความเครียดและความวิตกกังวลจะเรียกว่า ความผิดปกติของระบบประสาท (nervous ticks) สามารถส่งผลกระทบได้ต่อกล้ามเนื้อทุกมัดในร่างกาย
  • การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การดื่มคาเฟอีนและสารกระตุ้นชนิดอื่นมากเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อในแต่ละส่วนของร่างกายเกิดอาการกระตุกได้
  • การขาดสารอาหาร ก็อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกได้เช่นกัน โดยเฉพาะที่บริเวณเปลือกตา น่อง และมือ ภาวะขาดสารอาหารที่พบได้ทั่วไปก็คือ ขาดวิตามินดี ขาดวิตามินบี และขาดแคลเซียม
  • ภาวะขาดน้ำ การที่ร่างกายขาดน้ำก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและกระตุก โดยเฉพาะตามกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นขา แขน และลำตัว
  • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินที่พบได้ในบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่น ก็อาจก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา
  • การระคายเคือง อาการกล้ามเนื้อกระตุกสามารถเกิดขึ้นได้ที่เปลือกตา หรือบริเวณรอบดวงตา เมื่อเปลือกตาหรือพื้นผิวของดวงตามีการระคายเคือง
  • การใช้ยาบางชนิด อาการกล้ามเนื้อกระตุก อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาเอสโตรเจน ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกบริเวณมือ แขน หรือขาได้
  • โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophies) เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงเรื่อย ๆ สามารถก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้ตามใบหน้า ลำคอ สะโพก และหัวไหล่
  • โรคลูเกห์ริกส์ (Lou Gehrig Disease) หรือที่เรียกว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) คือ โรคที่ทำให้เซลล์ประสาทตาย อาการกระตุกของกล้ามเนื้อที่เกิดจากโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นที่แขนกับขาก่อนเป็นลำดับแรก
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด SMA (Spinal Muscular Atrophy) คือ โรคที่เซลล์ประสาทสั่งการเคลื่อนไหวในไขสันหลังเสียหาย ส่งผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และเป็นสาเหตุให้ลิ้นมีอาการกระตุกได้
  • โรคไอแซ็คส์ ซินโดรม (Isaac’s Syndrome) ส่งผลต่อเส้นประสาทที่กระตุ้นใยกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุกบ่อยถี่ อาการกล้ามเนื้อกระตุกมักเกิดขึ้นที่แขนและขา

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการกล้ามเนื้อกระตุก

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุก เช่น

  • สภาพร่างกายที่อ่อนแอ
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะกล้ามเนื้อล้า

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการกล้ามเนื้อกระตุก

คุณหมออาจซักประวัติทางการแพทย์ และให้ตรวจร่างกาย โดยคำถามที่คุณหมออาจถาม เช่น

  • กล้ามเนื้อกระตุกมานานหรือยัง
  • กล้ามเนื้อกระตุกแต่ละครั้งนานแค่ไหน
  • กล้ามเนื้อกระตุกบ่อยแค่ไหน
  • กล้ามเนื้อส่วนใดบ้างที่กระตุก
  • กล้ามเนื้อกระตุกที่บริเวณเดิมตลอดหรือไม่
  • ผู้ป่วยตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
  • ผู้ป่วยมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่

การทดสอบขึ้นอยู่กับสาเหตุที่คุณหมอสันนิษฐาน ซึ่งอาจมีรายการทดสอบดังต่อไปนี้

  • เจาะเลือดเพื่อตรวจเกลือแร่ในเลือด หรืออิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ ตรวจทางเคมีในเลือด
  • ทำซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอสแกนที่สมองหรือไขสันหลัง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography หรือ EMG)

การรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก

อาการกล้ามเนื้อกระตุกส่วนใหญ่จะหายไปเองได้ภายในระยะเวลา 2-3 วัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่หากอาการกล้ามเนื้อกระตุกเกิดจากสาเหตุที่รุนแรง คุณหมออาจสั่งจ่ายยาดังต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น เบต้าเมทาโซน (Betamethasone) เพรดนิโซน (Prednisone)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)
  • ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Blocker) เช่น อินโคโบทูลินัมท็อกซินเอ (Incobotulinumtoxin A)

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเองเพื่อรับมือกับอาการกล้ามเนื้อกระตุก

วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาหรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุกได้

  • ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเน้นผักและผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตคุณภาพที่ร่างกายใช้สร้างพลังงาน นอกจากนี้ ควรรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ โดยเน้นโปรตีนไร้ไขมัน เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เต้าหู้
  • นอนหลับให้เพียงพอ ปกติแล้วจำเป็นต้องนอนหลับ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายได้มีเวลาเยียวยาและฟื้นตัว อีกทั้งยังช่วยให้ระบบประสาทได้พักผ่อนด้วย
  • จัดการกับความเครียด ลดปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเครียดในชีวิต พยายามผ่อนคลายด้วยการนั่งสมาธิ เล่นโยคะ รำมวยไทเก๊ก เป็นต้น หรืออาจออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็สามารถช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การพูดคุยกับนักบำบัดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีคลายเครียดที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน
  • จำกัดการดื่มคาเฟอีน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้
  • เลิกสูบบุหรี่ คือ สารกระตุ้นชนิดอ่อนที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง การเลิกบุหรี่ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อกระตุกแล้ว ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • เปลี่ยนยา หากใช้ยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อเปลี่ยนยา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Muscle twitching. https://medlineplus.gov/ency/article/003296.htm. Accessed December 24, 2018.

Twitching eyes and muscles. https://www.nhs.uk/conditions/twitching-eyes-and-muscles/. Accessed December 24, 2018.

Myoclonus (Muscle Twitch). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15301-myoclonus-muscle-twitch. Accessed December 24, 2018.

Muscle twitching. https://www.mountsinai.org/health-library/symptoms/muscle-twitching. Accessed December 24, 2018.

Causes of Muscle Twitches and Spasms. https://www.webmd.com/brain/ss/slideshow-twitches-spasms-causes. Accessed December 6, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/09/2023

เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คอบิดเกร็ง (Cervical Dystonia) ปัญหากล้ามเนื้อคอที่ไม่ควรรอรี

อาหารสร้างกล้ามเนื้อ ที่ช่วยเพิ่มมวลกล้าม มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 20/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา