โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตจึงสำคัญมากสำหรับเด็ก ร่างกายเราจะมีโกรทฮอร์โมนมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น จากนั้นโกรทฮอร์โมนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ สำหรับคนวัยผู้ใหญ่ที่ที่โกรทฮอร์โมนยังทำหน้าที่ได้ดี ก็จะดูอ่อนเยาว์กว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโกรทฮอร์โมน จึงเป็นสิ่งที่ใครหลายคนให้ความสนใจ มีความเชื่อที่ว่า หากไปฉีดโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ (HGH) จะช่วยชะลอสัญญาณแห่งวัย หรือทำให้ดูเด็กลง แต่วิธีนี้ก็มีผลข้างเคียงที่ตามมามากมาย เช่น เจ็บกล้ามเนื้อและข้อต่อ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ข่าวดีก็คือ เราสามารถกระตุ้นให้ร่างกาย สร้างโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติ เมื่อโกรทฮอร์โมนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายก็จะแข็งแรง ไม่อ่อนเพลียง่าย แถมยังดูอ่อนเยาว์อีกด้วย
วิธีกระตุ้นการ สร้างโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติ
เราสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติ ด้วยวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลดีเหล่านี้
ลดความอ้วน
การลดความอ้วน เป็นวิธีสร้างโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติวิธีแรกที่เราแนะนำ เนื่องจากมีผลงานวิจัยมากมายที่ระบุว่า ยิ่งมีไขมันสะสมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มีโกรทฮอร์โมนน้อยลงเท่านั้น คนอ้วนที่มีจำนวนของไขมันสะสมในร่างกาย จะมีปริมาณโกรทฮอร์โมนน้อยกว่าคนผอม ผลงานวิจัยยังเผยอีกว่า คนอ้วนจะมีโกรทฮอร์โมนต่ำ แต่หลังจากลดน้ำหนัก ฮอร์โมนก็จะกลับมาเป็นปกติ การมีไขมันสะสมทำให้เกิดโรคมากมาย หากลดน้ำหนักได้ นอกจากจะช่วยเรื่องโกรทฮอร์โมนแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพดี ห่างไกลโรคด้วย
ลดน้ำตาล
หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้โกรทฮอร์โมนต่ำ เนื่องจากน้ำตาลทำให้ฮอร์โมนอินซูลินหลั่ง เมื่อร่างกายมีอินซูลินมาก โกรทฮอร์โมนก็จะน้อย แต่หากเราทำให้อินซูลินลดลงหรือคงที่ได้ โกรทฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีผลการศึกษาวิจัยที่ชี้ว่า คนสุขภาพดีที่ไม่มีโรคเบาหวาน มีปริมาณโกรทฮอร์โมนในร่างกายมากกว่าผู้ที่มีภาวะโรคเบาหวาน 3-4 เท่า
ไม่กินอะไรก่อนนอน
ส่วนใหญ่แล้วร่างกายของเราจะหลั่งโกรทฮอร์โมนในช่วงที่เราหลับ สำหรับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมนหลังจากนอนหลับแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หากคุณกินอาหารก่อนนอน จะมีของแถมคืออินซูลิน และอย่างที่บอกไปแล้ว หากมีอินซูลินมาก โกรทฮอร์โมนก็จะน้อย โดยปกติระดับอินซูลินหลังจากที่เรากินอาหาร 2-3 ชั่วโมง ฉะนั้น ในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน คุณจึงไม่ควรกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
นอนหลับให้สนิท
การนอน 7-8 ชั่วโมงต่อวันจะช่วยให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมนเพิ่มขึ้น หากนอนน้อยจะทำให้มีคอร์ติซอล (Cortisol) สูง คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาตอนเครียด หากมีมากจะส่งผลต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมน
ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมนในช่วงก่อนเที่ยงคืน และในตอนเช้ามืด มีงานวิจัยเผยว่า การนอนหลับที่ไม่ดี จะส่งผลต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมน Hello คุณหมอ จึงมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยทำให้นอนหลับดีขึ้นมาฝาก ดังนี้
- ไม่เล่นโทรศัพท์ก่อนนอน
- อ่านหนังสือ หรือฟังเพลงผ่อนคลายก่อนนอน
- นอนในห้องที่มืดสนิท และมีอุณหภูมิที่เหมาะสม
- งดคาเฟอีนก่อนนอน
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกาย เป้นวิธีสร้างโกรทฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง แต่โกรทฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของการออกกำลังกาย ความหนักหรือความเข้มข้นในการออกกำลังกาย และอาหารที่เรากินตอนออกกำลังกาย
งานวิจัยชี้ว่า การออกกำลังกายด้วยความเข้มข้นสูงสุด จะช่วยเพิ่มโกรทฮอร์โมน ส่วนการออกกำลังกายในรูปแบบอื่น และในระดับควมเข้มข้นอื่น จะช่วยทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกาย จึงส่งผลให้โกรทฮอร์โมนเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]