นิ่ว อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกันตามภาวะทางสุขภาพ และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันออกไป คุณอาจจำเป็นต้องเข้าปรึกษาแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ปัสสาวะมีเลือดปน วันนี้ Hello คุณหมอ ขอพาทุกคนมารู้จักกับเทคนิค การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก ที่แพทย์นิยมเลือกใช้ในการกำจัดก้อนนิ่ว ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา มาฝากให้ได้ทราบไปพร้อม ๆ กันค่ะ
การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) คืออะไร
การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก มีชื่อเต็มภาษาอังกฤษทางการแพทย์ว่า Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL ถูกนำมาใช้ในครั้งแรกช่วงต้นทศวรรษ 1980 ที่มหาวิทยาลัยฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้อุปกรณ์ที่มีระบบปล่อยคลื่นความถี่ไปยังจุดเฉพาะที่แพทย์กำหนด เข้าไปกระทบกับก้อนนิ่วแข็ง จนทำให้นิ่วแตกออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ และถูกขับออกจากร่างกายในรูปแบบปัสสาวะอย่างง่ายดาย
ขั้นตอน การสลายนิ่ว ด้วยคลื่นกระแทก
ก่อนเข้ารับการรักษา คุณอาจได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเลือดเป็นระยะเวลา 7-10 วัน เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) วิตามินอี (Vitamin E) พลาวิกซ์ (Plavix) จากนั้นเมื่อถึงวันนัดหมายของ การสลายนิ่ว ด้วยคลื่นกระแทก แพทย์อาจเริ่มต้นตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยอาจได้รับการดมยาสลบ หรือยาระงับประสาทผ่านทางหลอดเลือดดำ
- แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวด์ค้นหาจุดที่ควรได้รับการรักษา
- แพทย์จะใช้เครื่องมือส่งคลื่นกระแทกพลังงานสูงเข้าไปจนกว่าแพทย์จะสังเกตเห็นว่าก้อนนิ่วมีการแตกออกแล้ว
ในบางกรณีแพทย์อาจจำเป็นต้องสอดท่อเข้าไปขยายไต เพื่อให้ก้อนนิ่วเล็ก ๆ ออกผ่านไปยังกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายก้อนนิ่วออกไปได้อย่างสะดวก ขั้นตอนการใช้คลื่นกระแทกสลายนิ่วนี้อาจใช้ระยะเวลาไม่นานมากนักประมาณ 1 ชั่วโมง ตามแต่อาการและขนาดของก้อนนิ่วภายในตัวคุณ ส่วนใหญ่ขนาดนิ่วที่เหมาะสมแก่การใช้เทคนิคการรักษานี้จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร จนถึง 2 เซนติเมตร
การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกไม่เหมาะกับใครบ้าง
บุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้ อาจไม่เหมาะที่จะทำ การสลายนิ่ว ด้วยคลื่นกระแทก
- สตรีที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในไตชนิดเรื้อรัง
- ผู้ที่เนื้อเยื่อเกิดการอุดตัน หรือเป็นแผลภายในท่อไต
- ภาวะการก่อตัวของนิ่วแคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) และนิ่วซีสทีน (Cystine stones) เพราะอาจทำให้การรักษาด้วย ESWL ไม่ค่อยเกิดผลมากนัก
ดังนั้น คุณจึงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เกี่ยวกับก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นก่อนเสมอ เพื่อให้แพทย์สามารถทำการวิเคราะห์ พร้อมค้นหาวิธีรักษาด้วยเทคนิคอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสมแก่สภาวะสุขภาพคุณ
ความเสี่ยงของ การสลายนิ่ว ด้วยคลื่นกระแทก
แม้ว่า การสลายนิ่ว ด้วยคลื่นกระแทกจะได้รับการยอมรับความปลอดภัยมาอย่างยาวนาน แต่บางครั้งก็อาจสร้างความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยหลังจากการรักษาด้วยเช่นกัน ดังนี้
- การติดเชื้อ
- เลือดออกเล็กน้อยบริเวณได้รับรอบ ๆ ไต หรือบริเวณที่สลายนิ่ว
- การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ และเส้นประสาทกล้ามเนื้ออวัยวะ
- ความดันโลหิตสูง
- เกิดการสะสมของก้อนนิ่วที่ไม่สามารถขับออกได้
- สลายก้อนนิ่วให้เป็นชิ้นเล็กไม่มากพอ
หากคุณมีข้อกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม โปรดเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ พร้อมรับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นตามการนัดหมายทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือผลข้างเคียงได้อย่างเท่าทัน
[embed-health-tool-bmi]