รอยช้ำ หรือ ฟกช้ำ คือการบาดเจ็บที่เนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดแดงที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง จนเลือดมาคั่งอยู่ใต้ชั้นผิวหนังชั้นนอก ทำให้เห็นเป็นรอยคล้ำดำเขียว รอยช้ำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน คุณอาจเผลอเตะประตู เดินชนขาโต๊ะ ผ่านไปไม่นานบริเวณนั้นก็กลายเป็นรอยช้ำ แต่บางคนอาจมีรอยช้ำเกิดขึ้นบนร่างกาย โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ หากเป็นเช่นนั้น นั่นหมายความว่า คุณมีแนวโน้มเกิดรอยช้ำง่ายกว่าคนอื่น ซึ่งอาจเกิดได้จากสาเหตุเหล่านี้
[embed-health-tool-bmi]
สาเหตุของ รอยช้ำ
1. อายุที่มากขึ้น
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ผิวหนังจะบางลง และสูญเสียชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ที่ทำหน้าที่เสมือนเบาะคอยรองรับแรงกระแทก ร่างกายผลิตคอลลาเจนลดลง อีกทั้งเส้นเลือดยังเปราะแตกง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณมีโอกาสเกิดรอยช้ำได้ง่ายขึ้น
2. การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด
ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ยาต้านเกล็ดเลือด (Anti-platelet drugs) ยาเจือจางเลือด (Blood thinner) หรืออาหารเสริมบางชนิด เช่น น้ำมันปลา สารสกัดใบแปะก๊วย จะไปลดความสามารถในการแข็งตัวของเลือด และทำให้คุณเกิดรอยช้ำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) ก็เป็นสาเหตุให้หลอดเลือดบางลง และทำให้เกิดรอยช้ำง่ายขึ้นเช่นกัน หากคุณกินยาเหล่านี้แล้วพบรอยช้ำ อย่าหยุดกินยากะทันหัน แต่ควรปรึกษาแพทย์ทันที
3. ฟกช้ำ จากการขาดวิตามินซี
วิตามินซี เป็นสารอาหารที่จำเป็นในการเยียวยาและซ่อมแซมร่างกาย หากคุณได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอ อาจทำให้คุณเกิดรอยช้ำได้ง่ายขึ้น การขาดวิตามินซี นอกจากจะทำให้คุณเป็นรอยช้ำง่ายแล้ว ยังทำให้แผลและรอยขีดข่วนต่างๆ หายได้ยากขึ้นอีกด้วย โดยปกติแล้ว การขาดวิตามินซีอย่างหนักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้หากคุณอายุมาก หรือสูบบุหรี่
4. ปัจจัยทางกรรมพันธุ์
หากสมาชิกในครอบครัวคุณมีแนวโน้มเกิดรอยช้ำง่าย คุณก็มีโอกาสเกิดรอยช้ำได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นผู้หญิง เพราะหลอดเลือดเปราะแตกง่ายกว่า จึงทำให้เกิดรอยช้ำง่ายกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในบริเวณต้นแขน ต้นขา หรือก้น
5. ถูกทำร้ายจากแสงแดด
ร่างกายเราควรได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ เพราะแสงแดดมีส่วนช่วยในการผลิตวิตามินดี และช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ แต่หากคุณได้รับแสงแดดมากเกินไป โดยเฉพาะรังสียูวีบี (UVB) ที่ทำให้ผิวไหม้แดด และสูญเสียความยืดหยุ่น ทั้งยังทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ชั้นผิวหนังของคุณอ่อนแอลง จนทำให้คุณเกิดรอย ฟกช้ำ ได้ง่ายและเห็นได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง รอยช้ำที่เกิดจากแสงแดดนี้จะแตกต่างจากรอยช้ำที่เกิดจากการกระแทก เมื่อกดลงไปจะไม่นิ่มบุ๋ม และใช้เวลาในการรักษานานกว่า ส่วนใหญ่จะปรากฏที่มือและแขน
6. เป็นโรคเลือด
โรคเลือด เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด หรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เป็นสาเหตุให้เลือดไม่ค่อยแข็งตัว จึงทำให้คุณเกิดรอยช้ำบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ฉะนั้น หากคุณเกิดรอยช้ำกะทันหัน หรือมีรอยช้ำแบบไม่รู้ที่มาที่ไปบ่อยๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
7. ออกกำลังกายหนักเกินไป
บางครั้งการออกกำลังกายแบบเข้มข้นหรือหนักหน่วง เช่น การยกน้ำหนัก การวิ่งมาราธอน อาจทำให้กล้ามเนื้อของคุณทำงานหนักและตึงเกินไป จนเป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงฉีกขาดและเกิดเป็นรอยช้ำได้ในที่สุด อีกทั้งการออกกำลังกายยังทำให้เกิดการฉีกขาดในระดับเนื้อเยื่อของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถทำให้เกิดรอยช้ำได้เช่นกัน และนอกจากเรื่องของกล้ามเนื้อที่กล่าวมาแล้ว ระหว่างออกกำลังกาย คุณอาจเผลอกระแทกกับอุปกรณ์ต่างๆ จนเกิดเป็นรอยช้ำได้ด้วย
8. ดื่มหนัก
การเกิดรอย ฟกช้ำ เพราะดื่มหนักในที่นี่ไม่ได้หมายถึงการที่คุณดื่มแอลกอฮอล์หนักจนเมาแล้วเผลอชนโน่นนี่จนเป็นรอยช้ำ แต่การที่คุณดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปแล้วเกิดรอยช้ำง่าย นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า ตับของคุณกำลังมีปัญหา เช่น โรคตับแข็ง เพราะตับมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือด เมื่อตับทำงานผิดปกติ ไม่สร้างโปรตีนตามที่ควร คุณจึงมีเลือดออกหรือมีรอยช้ำง่ายกว่าปกติ ถือเป็นอาการเจ็บป่วยร้ายแรงควรรีบปรึกษาแพทย์
9. เป็นโรคมะเร็งบางชนิด
แม้จะดูเหลือเชื่อ แต่จริงๆ แล้ว การที่คุณเกิดรอยช้ำง่าย ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ได้เช่นกัน หากคุณมีรอยฟกช้ำ ร่วมกับปวดเมื่อย เหนื่อยล้า และอ่อนเพลียตลอดเวลา หรือน้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่าปล่อยเอาไว้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
วิธีง่ายๆ ช่วยป้องกันและลดรอย ฟกช้ำ
- หากเกิด ฟกช้ำ คุณควรยกบริเวณรอยช้ำให้สูงกว่าหัวใจ แล้วประคบน้ำแข็ง วิธีนี้จะช่วยให้รอยช้ำไม่ขยายใหญ่กว่าเดิมและหายเร็วขึ้น
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องมีการปะทะกัน เช่น ฟุตบอล
- จัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านให้ดี อย่าให้เกะกะ โดยเฉพาะบริเวณบันได
- ติดตั้งแสงสว่างภายในบ้านให้เพียงพอ
- หากต้องกินยา เช่น ยาเจือจางเลือด ตามคำสั่งของแพทย์ ควรติดตามผลและปรับยาให้เหมาะสมอยู่เสมอ
มีรอย ฟกช้ำ เมื่อไหร่ควรไปปรึกษาหมอ
- มีรอยช้ำบ่อย และเป็นรอยช้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบนลำตัว แผ่นหลัง หรือหน้า หรือมีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีรอย ฟกช้ำ ง่าย และมีประวัติเสียเลือดมาก เช่น ระหว่างผ่าตัด
- มีรอยช้ำกะทันหัน โดยเฉพาะเมื่อคุณเริ่มใช้ยาตัวใหม่
- ครอบครัวมีประวัติเกิดรอยช้ำง่าย หรือเลือดออกง่าย
- มีอาการเลือดออกที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด
- มีรอยช้ำแล้วเจ็บปวดมาก หรือเป็นรอยช้ำนานกว่า 2 สัปดาห์