เรารู้กันมาว่า ก่อนนำวัตถุดิบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ มาประกอบอาหาร ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดีก่อน เพื่อทำลายเชื้อโรคและสารเคมี ยาฆ่าแมลงต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ ยิ่งถ้าเป็นเนื้อสัตว์ ก็ยิ่งต้องล้างเมือกและเลือดให้เกลี้ยง แต่ความจริงแล้ว การล้างทำความสะอาดวัตถุดิบบางอย่างก่อนนำมาทำอาหาร เช่น เนื้อไก่สด ก็อาจไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคอย่างที่เราคิด แต่กลับยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย และทำให้คุณเสี่ยงโรคมากกว่าเดิม ลองอ่านบทความนี้ของ Hello คุณหมอ แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไม คุณถึงไม่ควร ล้างไก่สดก่อนทำอาหาร
ทำไมเราถึงไม่ควร ล้างไก่สดก่อนทำอาหาร
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การล้างไก่สดก่อนทำอาหาร เพิ่มความเสี่ยงอาหารเป็นพิษ เป็นไข้ ท้องเสีย เนื่องจากเนื้อไก่มักปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียอันตราย เช่น ซาลโมเนลลา (Salmonella) แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) และการล้างเนื้อไก่ก่อนนำไปทำอาหาร ก็ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้ แต่กลับยิ่งเพิ่มความเสียงให้เชื้อโรคแพร่กระจายและปนเปื้อนไปทั่วห้องครัว
จากผลงานศึกษาวิจัยของหน่วยบริการด้านความปลอดภัยและตรวจสอบคุณภาพอาหาร (Food Safety Inspection Service) สังกัดกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ที่ให้กลุ่มตัวอย่าง 300 คนทำอาหารเมนูไก่และสลัดผัก โดยให้กลุ่มหนึ่งปฏิบัติตามคู่มือแนะนำการประกอบอาหารอย่างปลอดภัย เช่น ห้ามล้างเนื้อไก่ก่อนทำอาหาร ต้องใช้เขียงและมีดหั่นไก่แยกต่างหาก และล้างมือให้สะอาดด้วยวิธีที่ถูกต้อง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ให้ล้างเนื้อไก่ก่อนปรุงอาหารตามที่เคยปฏิบัติปกติ ผลปรากฏว่า 60% ของกลุ่มที่ล้างเนื้อไก่สดก่อนทำอาหาร พบเชื้อแบคทีเรียตกค้างอยู่ที่อ่างล้างจาน อีก 14% มีร่องรอยของเชื้อโรคตกค้างอยู่ที่อ่างล้างจาน แม้พวกเขาจะล้างทำความสะอาดอ่างอย่างดีแล้ว และอีก 26% มีเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล ปนเปื้อนอยู่ในสลัด
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การปรุงเนื้อไก่ให้สุกจะช่วยฆ่าแบคทีเรียที่อยู่ในไก่ได้ เช่น แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) ฉะนั้น แทนที่จะล้างไก่สดก่อนทำอาหาร จนทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่ว คุณควรป้องกันเชื้อโรคด้วยการปรุงเนื้อไก่ให้สุกทั่วถึง โดยไม่ต้องล้างก่อน จะปลอดภัยมากกว่า
วิธีป้องกันอาหารเป็นพิษ ติดเชื้อโรคเพราะเนื้อไก่ดิบ
- เวลาเอาเนื้อไก่ออกจากบรรจุภัณฑ์ คุณไม่ควรเทน้ำจากเนื้อไก่ลงอ่างล้างจาน แต่ควรทิ้งลงถุงขยะ และรีบเอาถุงขยะนั้นออกไปทิ้งนอกบ้านโดยเร็วที่สุด หากจำเป็นต้องเทน้ำจากเนื้อไก่สดลงอ่างล้างจานจริง ๆ ให้ค่อย ๆ เท อย่าให้กระจายไปทั่ว และรีบเทน้ำสบู่ตามลงไป จากนั้นล้างทำความสะอาดอ่างล้างจานด้วยน้ำสบู่ทันที
- เวลาเก็บเนื้อไก่สดในตู้เย็น ต้องใส่กล่องหรือถุง ปิดให้สนิท เพื่อไม่ให้น้ำจากเนื้อไก่ไหลไปปนเปื้อนอาหารอื่น ๆ ในตู้เย็น
- เวลาเตรียมวัตถุดิบประกอบอาหาร ควรเตรียมผักผลไม้ก่อน โดยเฉพาะผักผลไม้ที่จะกินสด ไม่ผ่านความร้อน แล้วค่อยเตรียมเนื้อสัตว์เป็นลำดับสุดท้าย
- ควรใช้เขียงพลาสติก จะปลอดภัยกว่าเขียงไม้ และควรมีเขียงและมีดสำหรับหั่นเนื้อสัตว์แยกต่างหาก อย่าใช้มีดและเขียงเดียวกับเวลาหั่นผักผลไม้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากเนื้อไก่ปนเปื้อนอาหารอื่น ๆ
- หลังทำอาหาร คุณต้องล้างทำความสะอาดเครื่องครัว พื้นที่เตรียมอาหาร และบริเวณก๊อกน้ำให้ดี โดยเฉพาะเขียงและมีดที่ใช้หั่นเนื้อไก่ และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที ทั้งก่อนและหลังเตรียมวัตถุดิบประกอบอาหาร โดยเฉพาะหลังจับเนื้อไก่
- ห้ามกินเนื้อไก่ดิบเป็นอันขาด เวลาทำอาหารเมนูไก่ คุณต้องใช้ความร้อนอย่างน้อย 73 องศาเซลเซียส (165 องศาฟาเรนไฮต์) เพื่อให้เนื้อไก่สุกร้อยเปอร์เซ็นต์ หากไม่แน่ใจว่าไก่สุกดีหรือยัง ให้ลองหั่นดูตรงส่วนที่เนื้อหนาที่สุด หากเนื้อไก่สุกดีแล้ว เนื้อจะต้องขาว ไม่เป็นสีแดงหรือชมพู หรือมีน้ำ มีเลือดไหลออกมา
เวลาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ อย่างเนื้อไก่ หากคุณไม่อยากให้มีเชื้อโรค หรือสารเคมีตกค้าง สิ่งที่คุณต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ ต้องปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน และควรล้างมือให้สะอาดด้วย เพราะบางครั้ง แค่ล้างวัตถุดิบให้ดี ก็อาจไม่สามารถป้องกันคุณจากโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างที่คุณคิด
[embed-health-tool-bmi]