backup og meta

ไขกระดูก อีกหนึ่งอวัยวะสำคัญ ที่คุณอาจยังไม่รู้จักดีพอ

ไขกระดูก อีกหนึ่งอวัยวะสำคัญ ที่คุณอาจยังไม่รู้จักดีพอ

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “ไขกระดูก” หรือ “การปลูกถ่ายไขกระดูก” แต่ก็อาจจะยังไม่แน่ใจว่าไขกระดูกคืออะไร และทำหน้าที่ใดในร่างกายของเรากันแน่ วันนี้ Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักไขกระดูกให้ดีขึ้น คุณจะได้ดูแลไขกระดูกได้อย่างถูกต้อง เพราะไขกระดูกสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมของคุณมากกว่าที่คิด

ไขกระดูก คืออะไร

ไขกระดูก (Bone marrow) คือ เนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำซึ่งบรรจุอยู่ในช่องไขกระดูก หรือโพรงกระดูก (Medullary cavity) ที่อยู่ตรงกลางของกระดูก เราสามารถพบไขกระดูกได้ในกระดูกบางบริเวณของร่างกาย เช่น กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกสันหลัง

ไขกระดูก สำคัญอย่างไร

ไขกระดูกนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ไขกระดูกแดง และไขกระดูกเหลือง โดยไขกระดูแต่ละชนิด มีหน้าที่สำคัญในร่างกายดังนี้

1. ไขกระดูกแดง (Red bone marrow)

เป็นเนื้อเยื่อมัยอีลอยด์ (Myeloid tissue) มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสร้างเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ โดยกระบวนการนี้เรียกว่า Hematopoiesis หรือ Hemopoiesis ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดที่ได้จากกระบวนการนี้ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

  • เซลล์เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ลำเลียงเลือดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย
  • เซลล์เม็ดเลือดขาว มีด้วยกันหลายชนิด แต่ทุกชนิดมีหน้าที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ
  • เกล็ดเลือด มีหน้าที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว ป้องกันภาวะเลือดออกมากผิดปกติ

ในร่างกายผู้ใหญ่ จะสามารถพบไขกระดูกแดงได้ในกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลัง กระดูกสันอก กระดูกซี่โครง กระดูกเชิงกราน ปลายกระดูกต้นแขน ปลายกระดูกต้นขา และปลายกระดูกแข้ง

2. ไขกระดูกเหลือง (Yellow bone marrow)

เป็นเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเซลล์ไขมัน (Adipocyte หรือ Fat cell) โดยร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้นี้มาใช้เป็นพลังงานเมื่อจำเป็น

นอกจากนี้ ไขกระดูกเหลือง ยังมีเซลล์ต้นกำเนิดชนิดมีเซนไคม์ (Mesenchymal Stem Cells หรือ MSCs) ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถทำหน้าที่ทดแทนเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ เช่น เซลล์ไขมัน เซลล์กล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน

เมื่อเราอายุมากขึ้น ไขกระดูกแดงจะค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยไขกระดูกเหลือง นั่นทำให้ในร่างกายของผู้ใหญ่มีไขกระดูกเหลืองมากกว่าไขกระดูกแดง

โรคและสภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูก

จะเห็นได้ว่าไขกระดูกนั้นมีส่วนสำคัญต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเราเป็นอย่างยิ่ง และหากไขกระดูกมีปัญหา ก็อาจก่อให้เกิดโรคหรือภาวะทางสุขภาพดังต่อไปนี้ได้

  • เสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น เนื่องจากในร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สุขภาพดี ซึ่งช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อไม่เพียงพอ
  • เหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลียง่าย เพราะร่างกายขาดฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • หายใจลำบาก หรือหายใจถี่ เนื่องจากมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยเกินไป ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไม่เพียงพอ
  • เลือดออกง่าย หรือช้ำง่าย เพราะมีเกล็ดเลือดต่ำ เลือดจึงไม่แข็งตัวตามปกติ
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) เกิดจากดีเอ็นเอของเซลล์เม็ดเลือดกลายพันธุ์ และเซลล์ที่กลายพันธุ์ก็เจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนมีจำนวนมากกว่าเซลล์เม็ดเลือดที่สุขภาพดี
  • โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดของไขกระดูกถูกทำลาย จนไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดใหม่ได้น้อยลง จนส่งผลให้มีเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายไม่เพียงพอ
  • โรคไขกระดูกมีความผิดปกติ (Myeloproliferative disorders) เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ จนส่งผลให้ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดบางชนิดมากเกินไป

สารอาหารที่ช่วยบำรุงไขกระดูกให้แข็งแรง

เราสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกในเบื้องต้นได้ ด้วยการกินอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ที่ดีต่อไขกระดูก เช่น

  • โปรตีน พบมากในเนื้อสัตว์ (เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อหมู) ปลาทูน่า ไข่ ถั่ว เต้าหู้ กรีกโยเกิร์ตแบบไร้ไขมัน ควินัว คอตเทจชีส เป็นต้น
  • วิตามินบี 12 พบมากในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อปลา หอย เครื่องในสัตว์ (โดยเฉพาะตับและไต) ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม
  • กรดโฟลิก หรือวิตามินบี 9 พบมากในผักใบเขียว (เช่น ปวยเล้ง ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่) ถั่ว เมล็ดทานตะวัน ผลไม้สด น้ำผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ตับสัตว์ อาหารทะเล ไข่ เป็นต้น

ในเมื่อรู้จักไขกระดูกมากขึ้นแล้ว ก็อย่าลืมดูแลไขกระดูกให้ดีด้วยนะคะ เพราะหากไขกระดูกแข็งแรง เหล่าเม็ดเลือดต่างๆ ก็พร้อมที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายของคุณก็พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันให้ผ่านไปได้ด้วยดี ทำให้สุขภาพโดยรวมของคุณก็จะดีไปด้วย

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

All you need to know about bone marrow. https://www.medicalnewstoday.com/articles/285666. Accessed August 5, 2020

What Is Bone Marrow, and What Does It Do?. https://www.healthline.com/health/function-of-bone-marrow#takeaway. Accessed August 5, 2020

What Is Bone Marrow?. https://www.ucsfbenioffchildrens.org/education/what_is_bone_marrow/. Accessed August 5, 2020

Bone Marrow Diseases. https://medlineplus.gov/bonemarrowdiseases.html. Accessed August 5, 2020

Foods That Strengthen Bone Marrow. https://www.livestrong.com/article/480567-foods-that-strengthen-bone-marrow/. Accessed August 5, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/09/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก สัญญาณบ่งชี้และอาการที่ควรรู้

เพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ เหล่านี้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 02/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา