backup og meta

6 ท่า กายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

6 ท่า กายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

หาก ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ต้องนอนพักรักษาตัวเป็นเวลานานไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายเลย อาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก กล้ามเนื้ออ่อนแอลงหรือสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ จนสุขภาพอ่อนแอและต้องพักรักษาตัว หรือพักฟื้นนานขึ้น และบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น แผลกดทับ ได้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ผู้ป่วยติดเตียงออกกำลังกายเป็นประจำด้วยท่า กายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เหล่านี้

[embed-health-tool-heart-rate]

กายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง

1. ท่ายืดเหยียดนิ้วและฝ่ามือ

ท่ายืดเหยียดนิ้วและฝ่ามือจัดเป็นท่ากายบริหารสำหรับ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ทำได้ง่ายที่สุดท่าหนึ่ง โดยคุณสามารถยืดเหยียดนิ้วและฝ่ามือได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ยื่นมือไปข้างหน้า หันฝ่ามือออกนอกลำตัว
  2. กางนิ้วทั้ง 5 นิ้วให้ได้มากที่สุดแล้วค้างไว้ 2-3 วินาที
  3. ให้ปลายนิ้วแต่ละนิ้วแตะกับปลายนิ้วโป้ง ไล่ไปตั้งแต่นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย
  4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
  5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง

2. ท่าหมุนข้อมือ

การฝึกท่าหมุนข้อมือบ่อย ๆ จะช่วยให้ ผู้ป่วยติดเตียง มีข้อมือที่แข็งแรง และสามารถเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ โดยคุณสามารถออกกำลังกายในท่าหมุนข้อมือได้ ตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. นอนแขนแนบลำตัว ให้ฝ่ามือแตะอยู่บนเตียง
  2. หมุนข้อมือข้างหนึ่งทวนเข็มนาฬิกาช้า ๆ
  3. ทำซ้ำประมาณ 10-15 วินาที
  4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
  5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง

3. ท่ายกแขน

ท่ายกแขนเป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสำหรับ ผู้ป่วยติดเตียง ที่มีประสิทธิภาพมาก ผู้ป่วยสามารถฝึกท่ายกแขนด้วยตัวเอง หรือจะให้ผู้ดูแลช่วยก็ได้ โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
  2. ค้างไว้ 10 วินาที
  3. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
  4. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง

4. ท่ายกขา

หากขาคุณมีแรงพอ ควรฝึกกายบริหารสำหรับผู้ป่วยติดเตียงด้วยท่ายกขา โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ด้วย

  1. ค่อย ๆ ยกขาข้างหนึ่งขึ้น พยายามยกให้ได้ถึงระดับสะโพก
  2. ค้างไว้ 10-20 วินาที
  3. เอาขาลงช้า ๆ
  4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
  5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง

5. ท่ากระดกและกดข้อเท้า

ท่านี้เป็นท่ากายบริหารสำหรับ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณข้อเท้า และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้อย่างเป็นปกติที่สุด แต่การทำท่ากระดกและกดข้อเท้านี้ จะต้องให้ผู้ดูแลช่วยด้วย โดยคุณสามารถออกกำลังกายในท่ากระดกและกดข้อเท้าได้ ดังขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ผู้ดูแลค่อย ๆ ยกขาข้างหนึ่งของผู้ป่วยขึ้น โดยจับบริเวณน่องและปลายเท้าไว้ให้มั่น
  2. กดปลายเท้าลง ค้างไว้ 2-3 วินาที
  3. กระดกปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ 2-3 วินาที
  4. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
  5. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง

6. ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง

ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง หรือท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อแฮมสตริงนี้เหมาะกับ ผู้ป่วยติดเตียง อย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อส่วนนี้ สำหรับท่าบริหารท่านี้คุณต้องมีผู้ดูแลช่วยด้วย โดยทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ผู้ดูแลค่อย ๆ ยกขาข้างหนึ่งของผู้ป่วยขึ้น
  2. งอเข่าช้า ๆ ให้ชิดหน้าอกผู้ป่วยที่สุด
  3. ค้างไว้ 2-3 วินาที
  4. ค่อย ๆ กลับท่าเริ่มต้น
  5. สลับข้างแล้วทำซ้ำ
  6. ทำซ้ำข้างละ 2-3 ครั้ง

หาก ผู้ป่วยติดเตียง บริหารร่างกายด้วยท่าเหล่านี้เป็นประจำทุกวัน ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็นของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเจ็บปวดเพราะการกดทับได้ด้วย แต่อย่างไรก็ดี ก่อนผู้ป่วยติดเตียงจะบริหารร่างกายใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ดูแลก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bed Exercises. http://www.swbh.nhs.uk/wp-content/uploads/2012/07/Bed-exercises-ML4816.pdf. Accessed June 14, 2020

Mild Exercise While in the ICU Reduces Bad Effects of Prolonged Bed Rest. https://www.hopkinsmedicine.org/news/media/releases/mild_exercise_while_in_the_icu_reduces_bad_effects_of_prolonged_bed_rest. Accessed June 14, 2020

Exercises for Bedridden Patients. https://www.livestrong.com/article/432321-exercises-for-bedridden-patients/. Accessed June 14, 2020

4 Effective Exercises for Bedridden Patients. https://advancedtissue.com/2015/06/4-effective-exercises-for-bedridden-patients/.  Accessed June 14, 2020

6 Exercises for Bedridden Patients. https://www.useagilecare.com/2019/12/30/6-exercises-for-bedridden-patients/. Accessed June 14, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/11/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่ อาการติดเตียง มากเกินไป เสี่ยงต่อโรคทางจิตได้

ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ไม่ใช่เรื่องไม่ยาก หากทำตามเทคนิคเหล่านี้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/11/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา