backup og meta

ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ไม่ใช่เรื่องไม่ยาก หากทำตามเทคนิคเหล่านี้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 25/03/2021

    ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ไม่ใช่เรื่องไม่ยาก หากทำตามเทคนิคเหล่านี้

    ด้วยความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ ส่งผลคนมีอายุยืนยาวมากขึ้น จนทำให้สังคมในปัจจุบันนั้นเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หลายครอบครัวจึงอาจต้องประสบปัญหาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการ ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ที่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด บทความนี้ Hello คุณหมอ  ขอนำเสนอเทคนิคดี ๆ ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพื่อการดูแลอย่างถูกต้อง และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยได้

    ผลกระทบจากการเป็น ผู้ป่วยติดเตียง

    ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ดังต่อไปนี้

    • ผลกระทบต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ

    ระบบการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อนั้นจะทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อรองรับร่างกายในแนวตั้งตรง ต้านแรงโน้มถ่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักในบริเวณคอ ช่องท้อง หลังส่วนล่าง ก้น ต้นขา และน่อง ดังนั้น การนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ๆ จึงส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อในบริเวณเหล่านี้มากที่สุด

    ผู้ป่วยติดเตียงนั้นจะแทบไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อเหล่านี้เลย และเมื่อเราไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อก็จะเริ่มอ่อนแอลงและเสื่อมสภาพ และต้องใช้เวลานานมากกว่าจะฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรงดังเดิมได้

    การนอนติดเตียงเป็นเวลานานยังทำให้สูญเสียความหนาแน่นของกระดูก เนื่องจากไม่ได้รองรับน้ำหนักของร่างกายตามปกติ กระดูกข้อต่อที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวก็จะเริ่มเสื่อมลง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในบริเวณข้อต่อนั้นก็จะหนาขึ้น ส่งผลให้เคลื่อนไหวข้อต่อได้ลำบากมากขึ้น

    • ผลกระทบต่อหัวใจและเลือด

    ระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้นจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในลักษณะตั้งฉากกับพื้นโลก ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่จึงมักจะประสบปัญหาเรื่องการไหลเวียนของเลือด

    การไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกายอาจส่งผลให้การเต้นของหัวใจและการสูบฉีดของเลือดลดลง ทำให้มีปริมาณของออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายน้อยลงตามไปด้วย จึงทำให้เหนื่อยล้าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดลิ่มเลือดเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในบริเวณขา เมื่อมีลิ่มเลือดมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตันก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

    • ผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย

    การเคลื่อนไหวของร่างกายที่น้อยลง การดื่มน้ำน้อยลง และการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ลดลง สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยติดเตียงมีอาการท้องผูกบ่อยครั้ง และหากผู้ป่วยติดเตียงได้รับการดูแลไม่ดีพอ ยังอาจทำให้ขาดสารอาหารและขาดน้ำได้ด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น

    เทคนิคดี ๆ ในการ ดูแลผู้ป่วยติดเตียง

    เทคนิคดี ๆ ในการ ดูแลผู้ป่วยติดเตียงมีดังต่อไปนี้

    • รักษาความสะอาด

    ผู้ดูแลควรให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาดของเครื่องนุ่งห่ม และบริเวณโดยรอบ เช่น เตียง หมอน ผ้าห่ม ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนเป็นประจำ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค และคราบสกปรกต่าง ๆ การดูแลรักษาความสะอาดจะช่วยป้องกันสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวมากยิ่งขึ้น

    • ดูแลผิวของผู้ป่วยให้มีสุขภาพดี

    ควรอาบน้ำให้ผู้ป่วยเป็นประจำ และทำความสะอาดให้ครบทุกซอกทุกมุมในร่างกาย เพื่อป้องกันการหมักหมมของคราบสกปรก อย่าลืมเช็ดตัวผู้ป่วยให้แห้งสนิท ก่อนให้ผู้ป่วยกลับไปนอนที่เตียงด้วย เพราะผิวที่ยังเปียกชื้นอยู่อาจถูกกดทับอยู่กับเตียง ส่งผลให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผิวระคายเคือง และเกิดแผล การดูแลให้ผิวของผู้ป่วยแห้งและสะอาดอยู่เสมอจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลและการติดเชื้อได้

  • ออกกำลังกาย
  • ผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณสามารถให้ผู้ป่วยออกกำลังกายง่าย ๆ โดยเริ่มจากการยกแขนขึ้นข้างละ 10 วินาที แล้วค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นการออกกำลังกายเต็มรูปแบบเท่าที่ความสามารถของผู้ป่วยจะพอทำได้

    • เปลี่ยนท่าให้ผู้ป่วย

    การขยับและเปลี่ยนท่าทางให้ผู้ป่วยเป็นประจำเป็นวิธีป้องกันการเกิดแผลกดทับที่ดีที่สุด ผู้ดูแลควรขยับและเปลี่ยนท่าให้ผู้ป่วยอย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง และระวังการเกิดอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บในบริเวณจุดเปราะบาง เช่น คอ หากเป็นไปได้ควรพลิกตัวให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าตะแคงข้างบ้างเพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

    • เสริมหมอน

    การหนุนหมอนเสริมในบริเวณจุดที่มีแรงดันสูง เช่น ไหล่ ก้นกบ จะช่วยลดแรงดันที่เกิดขึ้นกับผิวหนังได้ สำหรับผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย การเสริมหมอนหนุนทั่วทั้งตัวจะช่วยลดแรงกดทับทั่วร่างกายได้

    โดยปกติแล้ว เราอาจเลือกใช้ท็อปเปอร์ที่ทำมาจากโฟมหรือยางพารา เพื่อช่วยรองรับน้ำหนักของตัวผู้ป่วย และเสริมหมอนในจุดที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ เช่น ใต้เข่า ใต้คอ

    • ป้อนอาหารให้ตรงเวลา

    ผู้ป่วยติดเตียงมีโอกาสที่จะขาดสารอาหารและขาดน้ำได้มากเป็นพิเศษ ผู้ดูแลจึงควรรักษาเวลาในการป้อนน้ำป้อนอาหารอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการป้อนข้าวผู้ป่วยในท่านอนราบ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการสำลักได้ ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งพิงเตียงเพื่อรองรับกระดูกสันหลัง ป้อนอาหารอย่างช้า ๆ และใจเย็น และควรเลือกเป็นอาหารอ่อนที่มีขนาดเล็ก อย่าลืมดูให้มั่นใจว่าผู้ป่วยเคี้ยวอาหารก่อนกลืนเสมอ

    ข้อควรระวัง สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง

    • ปัญหาสุขภาพ

    สิ่งที่ตัวผู้ดูแลผู้แลผู้ป่วยติดเตียงพึงระวัง ไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพและสุขอนามัยของตัวผู้ป่วยติดเตียง แต่ควรระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวผู้ดูแลเองด้วย การดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ดูแลจะต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ ทุ่มเทเวลาไปกับการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อคุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการอบรมมาก่อน

    • ปัญหาสุขภาพจิต

    หลายคนจำเป็นต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างเต็มเวลา ทั้งยังต้องรองรับอารมณ์จากตัวผู้ป่วย ความเครียด และความกังวลต่อตัวผู้ป่วย ตลอดไปจนถึงปัญหาภายนอกจากต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้า เช่น ปัญหาทางด้านการเงิน ปัญหาเรื่องการเข้าสังคม อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตัวผู้ดูแล จนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของผู้ดูแลได้

    มีงานวิจัยที่สำรวจผู้ดูแลที่มีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง พบว่า มีผู้ดูแลที่ประสบปัญหาด้านสภาพจิตใจและสังคมเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหาเนื่องมาจากการที่ต้องลาออกจากงานมาดูแลผู้ป่วยเต็มเวลา หรือมีปัญหาด้านขาดการสนับสนุนจากครอบครัว ครอบครัวหงุดชะงัก ต้องปลีกตัวออกจากสังคมเพื่อมาดูแลผู้ป่วย และข้อจำกัดทางด้านสังคมอื่น ๆ ผู้ดูแลหลายคนอาจต้องสูญเสียโอกาสในชีวิตไปเพื่อที่จะมาดูแลผู้ป่วย หรืออาจจะไม่ได้เต็มใจมาดูแลผู้ป่วย แต่ไม่มีทางเลือกอื่น จนท้ายที่สุดแล้ว ผู้ดูแลหลายคนอาจจะต้องกลายเป็นโรคซึมเศร้าไปในที่สุด

    ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่ตัวผู้ดูแลควรจะใส่ใจและให้ความระมัดระวัง ผู้ดูแลควรให้ความสำคัญกับตัวเอง และจัดการกับความเครียดของตัวเอง อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ทับถมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ แล้วทำลายชีวิตของตัวผู้ดูแลไปในที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 25/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา