ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า (Entropion) คือ ภาวะผิดปกติของเปลือกตา ทำให้เปลือกตาม้วนเข้าไปข้างใน จนเสียดสีกับกระจกตา ทำให้เจ็บ ระคายเคือง หรือตาติดเชื้อได้
คำจำกัดความ
ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า คืออะไร
ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า (Entropion) คือ ภาวะที่เปลือกตาหรือหนังตาของผู้ป่วยม้วนเข้าไปข้างใน ทำให้ขนตาและผิวหนังเปลือกตาเสียดสีกับกระจกตา จนส่งผลให้เกิดอาการน้ำตาไหล รู้สึกเจ็บ ระคายเคือง ไม่สบายตา หรืออาจถึงขั้นตาติดเชื้อได้ ส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเกิดกับเปลือกตาล่าง แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีภาวะเปลือกตาม้วนเข้าทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง และบางรายอาจเกิดภาวะนี้กับตาทั้งสองข้างได้
คนที่มีเปลือกตาม้วนเข้าส่วนใหญ่จะมีภาวะนี้ถาวร แต่ในบางครั้ง การหลับตาหรือกะพริบตาแรงๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะเปลือกตาม้วนเข้าแบบชั่วคราวได้เช่นกัน
ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า พบได้บ่อยแค่ไหน
ภาวะเปลือกตาม้วนถือเป็นภาวะที่พบได้ยากมากในเด็กและคนวัยหนุ่มสาว แต่จะพบมากในคนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
อาการ
อาการของภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
อาการที่พบได้ทั่วไปของภาวะเปลือกตาม้วนเข้า ได้แก่
- รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา
- รู้สึกเจ็บตา
- ตาแดง
- ระคายเคืองตา หรือเจ็บตา
- เกิดสะเก็ด หรือเมือกที่บริเวณเปลือกตา
- ตาไวต่อแสง หรือลม
- มีภาวะน้ำตาเอ่อ หรือน้ำตาไหลมากกว่าปกติ (Epiphora)
- ผิวหนังบริเวณดวงตาบวม หรือย้อย
- หากกระจกตาเสียหาย อาจทำให้มองเห็นไม่ชัดได้ด้วย
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณเกิดอาการดังต่อไปนี้กะทันหัน ควรไปพบคุณหมอทันที
- ตาแดงฉับพลัน
- เจ็บตา
- ตาไวต่อแสงผิดปกติ
- อยู่ ๆ ก็มองเห็นไม่ชัด
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
ยิ่งอายุมากขึ้น กล้ามเนื้อใต้ตาก็จะยิ่งอ่อนแอลง เส้นเอ็นยิ่งยืดออก จนส่งผลให้เกิดภาวะเปลือกตาม้วนเข้าได้ และปัญหากล้ามเนื้อและเส้นเอ็นนี้ก็ถือเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะนี้ด้วย
- การติดเชื้อที่ตา
การติดเชื้อที่ตาที่เรียกว่า โรคริดสีดวงตา (Trachoma) เป็นโรคตาอักเสบเรื้อรังที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และมักเกิดในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน เมื่อเป็นโรคนี้จะส่งผลให้เกิดแผลเป็นที่เปลือกตาด้านใน จนส่งผลให้เปลือกตาม้วนเข้า และอาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ด้วย
- แผลเป็น
แผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัด อาการบาดเจ็บ บาดแผลไม้จากสารเคมี อาจทำให้ความโค้งของเปลือกตาผิดปกติ จนส่งผลให้เปลือกตาม้วนเข้าได้
- ภาวะอักเสบ
เมื่อตาอักเสบ หรือตาแห้ง ก็มักจะทำให้เรารู้สึกระคายเคืองตา จนเผลอขยี้ตา หรือกะพริบตาแรง ๆ เพื่อบรรเทาอาการ และพฤติกรรมเหล่านี้ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อเปลือกตากระตุก หรือหดเกร็ง และขอบเปลือกตาม้วนเข้าไปเสียดสีกับกระจกตา
- ภาวะแทรกซ้อนทางพัฒนาการ
ขณะที่เกิดเปลือกตาตอนทารกอยู่ในครรภ์ อาจเกิดความผิดปกติ เช่น ผิวหนังเปลือกตามีรอยพับเกินมา จนส่งผลให้ทารกในครรภ์มีภาวะเปลือกตาม้วนเข้าแต่กำเนิดได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเปลือกตาม้วนเข้าได้
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเปลือกตาม้วนเข้าก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
- เคยเป็นแผลที่ใบหน้าหรือดวงตา เนื้อเยื่อแผลเป็นที่เกิดขึ้นจากการเป็นแผลที่บริเวณใบหน้า หรือดวงตา อาจส่งผลให้เกิดภาวะเปลือกตาม้วนเข้าได้
- เป็นโรคริดสีดวงตา โรคนี้สามารถทำให้เกิดแผลเป็นที่ด้านในเปลือกตา จนทำให้เกิดภาวะเปลือกตาม้วนเข้าได้
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย ภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
แพทย์มักตรวจพบภาวะเปลือกตาม้วนเข้าในขณะตรวจสุขภาพตา หรือตรวจสุขภาพทั่วไป และหากแพทย์สงสัยว่าคุณมีภาวะนี้ อาจทดสอบด้วยการถ่างตาของคุณให้เปิดกว้าง แล้วบอกให้คุณลองกะพริบตาหรือพยายามหลับตา เพื่อดูว่าเปลือกตาอยู่ในตำแหน่งปกติหรือไม่ และกล้ามเนื้อดวงตาของคุณทำงานผิดปกติหรือเปล่า
หากคุณมีภาวะเปลือกตาม้วนเข้าเนื่องจากมีเนื้อเยื่อแผลเป็นจากการผ่าตัดหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ แพทย์ก็อาจต้องตรวจเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบด้วย
เมื่อแพทย์ทราบสาเหตุของภาวะเปลือกตาม้วนเข้าของคุณแล้ว ก็จะทำให้สามารถรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด
การรักษาภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
วิธีรักษาภาวะเปลือกตาม้วนเข้าขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น และปกป้องดวงตาของคุณไม่ให้ถูกทำลาย โดยใช้วิธีรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด
หากเปลือกตาของคุณม้วนเข้าเพราะตาติดเชื้อ หรือตาอักเสบ เมื่อคุณรักษาปัญหาดวงตาดังกล่าวแล้ว เปลือกตาของคุณก็อาจกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่หากเกิดแผลเป็นที่เนื้อเยื่อ ต่อให้คุณรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุจนหายดีแล้ว ภาวะเปลือกตาม้วนเข้าก็อาจไม่หายขาด
วิธีรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
- ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม เพื่อให้เป็นเกราะป้องกันกระจกตาจากอาการระคายเคือง
- ฉีดโบท็อกซ์เข้าไปในเปลือกตาที่ม้วนเข้า เพื่อทำให้เปลือกตาดังกล่าวม้วนออก โดยผลลัพธ์ของการฉีดโบท็อกซ์แต่ละครั้ง จะคงอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน ฉะนั้น หากคุณอาจรักษาด้วยวิธีนี้ ก็อาจต้องเข้ารับการฉีดโบท็อกซ์อย่างต่อเนื่อง
- ใช้เทปปิดแผล หรือเทปทางการแพทย์ (Skin tape) เพื่อป้องกันไม่ให้เปลือกตาม้วนเข้า
- เย็บเปลือกตา โดยแพทย์จะให้ยาชาบริเวณเปลือกตา ก่อนจะเย็บเปลือกตาตามจุดที่ต้องการ เพื่อทำให้เปลือกตาที่เคยม้วนเข้าเปลี่ยนเป็นม้วนออก การเย็บเปลือกตาจะทำให้เกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นในจุดที่ต้องการ ซึ่งแผลเป็นดังกล่าวจะช่วยให้เปลือกตาหายม้วนเข้าได้ แม้จะตัดไหมเย็บออกไปแล้ว แต่วิธีนี้ก็ช่วยแก้ปัญหาเปลือกตาม้วนเข้าได้แค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เปลือกตาก็อาจกลับม้วนเข้าอีกได้
วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด
ชนิดของการผ่าตัดรักษาภาวะเปลือกตาม้วนเข้านั้นขึ้นอยู่กับสภาพของเนื้อเยื่อบริเวณรอบเปลือกตา และสาเหตุที่ทำให้เปลือกตาม้วนเข้า
ยกตัวอย่างเช่น หากสาเหตุเกิดจากอายุที่มากขึ้น จนผิวหนังบริเวณเปลือกตาหย่อนคล้อย แพทย์จะผ่าตัดเอาผิวหนังบริเวณเปลือกตาล่างออกเล็กน้อย เพื่อทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นในบริเวณนั้นกระชับขึ้น
หากสาเหตุเกิดจากคุณมีเนื้อเยื่อแผลเป็นที่เปลือกตาด้านใน หรือเคยเป็นแผล หรือเคยเข้ารับการผ่าตัดอื่น ๆ แพทย์อาจต้องผ่าตัดปลูกผิวหนังบริเวณเปลือกตาโดยใช้เยื่อบุผิวในช่องจมูกและปาก
หลังผ่าตัด คุณอาจมีอาการบวมและรอยช้ำที่บริเวณรอบดวงตาประมาณ 2 สัปดาห์ และแพทย์อาจสั่งให้คุณทายาปฏิชีวนะเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และประคบเย็นเป็นระยะเพื่อบรรเทาอาการบวมและรอยช้ำ นอกจากนี้ คุณอาจรู้สึกว่าเปลือกตาตึงขึ้นจนไม่สบายตา แต่ไม่นานอาการนี้ก็จะดีขึ้น
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับภาวะเปลือกตาม้วนเข้า
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับภาวะเปลือกตาม้วนเข้าได้
- หยอดน้ำตาเทียม หรือทายาป้ายตา เพื่อลดอาการระคายเคืองกระจกตา และช่วยให้กระจกตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ
- ใช้เทปปิดแผล หรือเทปทางการแพทย์ (Skin tape) เพื่อป้องกันไม่ให้เปลือกตาม้วนกลับเข้าไปอีก
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
[embed-health-tool-bmi]